วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

ทองโบราณ

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพช่างทองโบราณนั้นต้องมีความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริง มีแรงจูงใจ และไม่ลืมพื้นฐานในการรักษาเอกลักษณ์ของลวดลายทองโบราณไว้  และยังต้องขวนขวายหาความรู้มีหูตากว้างไกล มีไหวพริบและความคิดพลิกแพลงเพื่อต่อยอดงานออกไปได้เรื่อยๆโดยสามารถคงเอกลักษณ์ของความเป็นทองโบราณไว้

คุณค่าทางศิลปะของทองโบราณนั้นอยู่ที่สุนทรียภาพของลวดลาย ความอ่อนช้อย ตามแบบสมัยโบราณ  คุณลักษณะของงานทองโบราณคือเป็นงานหัตกรรมล้วนๆไม่ใช่งานที่ทำมาจากเครื่องจักร ตั้งแต่การคิดลาย การรีดเส้นทอง การขึ้นรูป  การทำงานออกมาในแต่ละชิ้นต้องอาศัยความแม่นยำในการสร้างรูปทรงตามที่ได้กำหนดขึ้นมาให้เป็นไปตามนั้นให้ได้

ทองโบราณจึงมักมีคุณค่าทางใจต่อผู้ที่มีความชื่นชอบ หรือต้องการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงมือ ลงแรง การรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ให้ได้ และการมีความคิดพลิกแพลงทำให้ชิ้นงานออกมาสวยงามร่วมสมัยโดยไม่ทิ้งความเป็นทองโบราณ

ลักษณะของทองคำและการนำมาใช้ทำงานทอง

ในสมัยโบราณนั้นพิจารณาเนื้อทอง  และตั้งราคาทองตามคุณลักษณะของเนื้อทอง มีตั้งแต่    ทองเนื้อสี่ถึงทองเนื้อเก้า  ตามประกาศของรัชกาลที่ ๔   เช่น   ทองเนื้อหกคือ   ทองหนัก ๑  บาท   ราคา ๖ บาท     ทองเนื้อเก้าคือ    ทองหนัก ๑  บาท  ราคา ๙ บาท 

ทองเนื้อเก้าเป็นทองที่บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  เนื้อสุกปลั่งมีสีเหลืองอมแดง เป็นทองธรรมชาติ  บางครั้งเรียกว่า ทองชมพูนุท  หรือ  ทองเนื้อแท้  นอกจากนี้  ในรัชกาลที่  ๔    ยังทรงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย คือ

          - ทองทศ   มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๑๐  ของ ชั่ง  หรือเท่ากับ  ๘  บาท  (๑ ชั่ง = ๘๐ บาท)

          - ทองพิศ   มีค่าเท่ากับ  ๑ ใน  ๒๐  ของชั่ง  หรือเท่ากับ  ๔  บาท

          - ทองพัดดึงส์   มีค่าเท่ากับ  ๑  ใน ๓๒  ของชั่ง  หรือเท่ากับ  ๒.๕๐  บาท 

นอกจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทองคำตามมูลค่าที่กำหนดโดยความบริสุทธิ์ของเนื้อทองแล้ว  ยังได้กำหนดคุณสมบัติของเนื้อทอง  โดยพิจารณาจากรูปลักษณ์  สี  และวิธีที่จะนำทองนั้นมาใช้งาน  หรือแปรรูปให้เหมาะกับงาน  ชื่อที่นิยมเรียกกันคือ

          ๑. ทองดอกบวบ  หรือทองคำที่มีสีดอกบวบ  เป็นทองเนื้อหก  ซึ่งเรียกกันตามความรู้สึกและสายตาที่เห็น นิยมนำมาทำเป็นภาชนะต่างๆและพระพุทธรูป

          ๒. ทองนพคุณ  เป็นทองคำแท้  ทองคำบริสุทธิ์   หรือทองเนื้อเก้า

          ๓.  ทองแล่ง    เป็นทองคำที่นำมาแล่ง หรือทำเป็นเส้นลวดเล็กๆแล้วแต่จะนำไปใช้งานลักษณะใด  เช่น  งานสาน  งานขัด  หรืองานทอ  หรือใช้ปักเครื่องนุ่งห่มที่ทำขึ้นพิเศษ  หรือทำเป็นเครื่อง-ประดับต่างๆ  เช่น  สร้อยคอ  สร้อยข้อมือ  มงกุฎ  อาจใช้เป็นส่วนย่อยของเครื่องประดับชนิดต่างๆ  หรือใช้คาดรัดร้อยยอดเจดีย์ที่ห่อหุ้มปลียอดด้วยทองคำ

          ๔. ทองแป  คือ เหรียญทองในสมัยโบราณใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตรานำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าตามมูลค่าได้ 

          ๕. ทองใบ  เป็นทองคำที่ตีแผ่เป็นแผ่นบางๆความหนาขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน   จากนั้นนำไปตัดเป็นชิ้นๆเพื่อนำไปพับหรือม้วน  บางครั้งก็เรียกว่า “ทองม้วน”

          ๖.  ทองเค   เดิมเป็นชื่อใช้เรียกทองคำเพื่อเป็นเกณฑ์วัดความบริสุทธิ์  โดยทอง  ๒๔ กะรัต หรือ ๒๔  เค  ถือเป็นทองคำแท้   ส่วนทอง ๑๔ เค  หมายถึง  ทองที่มีจำนวนเนื้อทองคำ ๑๔ กะรัต  ที่เหลือ ๑๐ กะรัตจะมีเนื้อโลหะอื่นเจือปน   ปัจจุบันคำนี้มักหมายถึง ทองที่มีเนื้อโลหะอื่นเจือปนอยู่หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “ทองนอก”

          ๗. ทองคำเปลว  เป็นทองคำที่ตี เป็นแผ่นบางมาก ใช้สำหรับปิดองค์พระพุทธรูปหรือนำไปทำงานหัตถกรรมชั้นสูง เช่น  ตู้พระธรรม  งานไม้แกะสลักลาย  มีการลงรักแล้วนำทองคำเปลวไปปิด   ซึ่งเรียกกันว่า “ลงรักปิดทอง”

          ๘. ทองรูปพรรณ คือ ทองคำที่นำมาเป็นเครื่องประดับต่างๆ   เช่น   สร้อยคอ  สร้อยข้อมือ   ต่างหู   กำไล  และแหวน  

ทองรูปพรรณนี้เองเป็นที่มาของงานทองโบราณเป็นการทำเครื่องประดับที่มีลวดลายละเอียดอ่อน  ขึ้นอยู่กับว่าช่างผู้ทำแต่ละคนจะมีความคิดสร้างสรรค์แบบชิ้นงานให้มีลวดลายออกมาเช่นใด ความประณีตของทองรูปพรรณซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับยอดฝีมือของประเทศไทยและถือเป็นเอกลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ชั้นสูง


ไม่มีความคิดเห็น: