วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

โลหะทองคำ

ทองคำล้ำค่า
          "ทองคำ" เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง จัดอยู่ใน จำพวกโลหะที่มีเนื้ออ่อน สีเหลืองสุกปลั่ง ตลอดเวลา มีอุณหภูมิหลอมละลายที่ ๑๐๖๓ องศาเซลเซียส และสามารถตีให้บางเป็นแผ่นจนมีความหนาเพียง ๐.๐๐๐๑ มิลลิเมตร หรือที่เรียกกันว่า ทองคำเปลว จากคุณสมบัติของทองคำที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีเนื้อสีเหลืองสุกปลั่งเป็นประกาย ไม่เป็นสนิม ไม่หมอง ไม่มีคราบไคล จึงดูสะอาดตาและนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

          มนุษย์รู้จักนำทองคำมาเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับมากกว่า ๕,๐๐๐ ปี โดยมีหลักฐานจากสมัย อียิปต์โบราณ จีน และอินเดีย นอกจากนี้ ทองคำยังเป็นแร่ที่หายาก มีปริมาณน้อย ประกอบกับคุณสมบัติที่คงทน และสวยงาม จึงทำให้ทองคำเป็นแร่โลหะที่มีค่า ตีราคาให้เป็นมูลค่าซื้อขายแลกเปลี่ยนกับมูลค่าสินค้าอื่นได้ ในสมัยก่อนเคยใช้ทองคำเป็นทุนสำรองในการผลิตธนบัตรของประเทศต่างๆ แต่ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว หลังจากที่ได้ยกเลิกการใช้มาตรฐานทองคำในด้านการเงินระหว่างประเทศ

           คุณสมบัติทางเคมีและทางฟิสิกส์

           คุณสมบัติทางเคมี
          ทองคำเป็นโลหะ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีสูตรทางเคมีคือ Au มักเกิดผสมกับแร่เงิน (Ag) หรือเกิดรวมกับแร่อื่นๆ เช่น เทลลูเรียม (Te) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) จะละลายในกรดกัดทองเท่านั้น

          คุณสมบัติทางฟิสิกส์
          ลักษณะที่พบทั่วไปเป็นเกล็ด หรือเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ ที่พบในรูปของผลึกนั้นหายาก และมักไม่ค่อยสมบูรณ์ ทองคำมีสีเหลืองเข้มมันวาว ถ้ามีโลหะเงินปนมากกว่าร้อยละ ๒๐ ทองคำก็จะมีสีเหลืองอ่อนจางๆ เรียกว่า อิเล็กทรัม (electrum) ทองคำมีความแข็ง ๒.๕ - ๓ ซึ่งนับว่าอ่อนถ้าเทียบกับโลหะชนิดอื่น นอกจากนี้ยังดึงให้เป็นเส้นเล็กๆ ได้ง่ายเมื่อผสมกับโลหะชนิดอื่นจะทำให้เนื้อทองคำแข็งขึ้น ทองคำมีความถ่วงจำเพาะ ๑๕ - ๑๙ แล้วแต่ว่าเนื้อทองคำจะมีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นมากน้อยเพียงใด หากเป็นทองคำบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะมีความถ่วงจำเพาะ ๑๙.๓ ความบริสุทธิ์ของทองคำคิดเป็น กะรัต (carat) โดยกำหนดว่า ทองคำ ๒๔ กะรัต เป็นทองคำบริสุทธิ์

          แหล่งกำเนิดทองคำ

          เกิดจากแหล่งปฐมภูมิ
           เป็นแหล่งแร่อยู่ในสายหรือทางแร่ทองคำ (gold bearing vien) ซึ่งเกิดรวมกับหินอัคนี เช่น เกิดรวมในสายแร่ควอตซ์ปนกับแร่ไพไรต์ แร่คาลโดไพไรต์ แร่กาลีนา แร่สฟาเลอไรต์ ซึ่งแร่เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับมวลหินแกรนิต การเกิดของแร่ทองคำแบบนี้จะมีสารละลายน้ำร้อน (hydrothermal solution) ที่มาจากต้นกำเนิดที่เรียกว่า หินหนืด (magma) ซึ่งเคลื่อนตัวตามรอยแตกของหินภายใต้เปลือกโลก ส่วนบนของมวลหินหนืดจะเป็นหินแกรนิต และสารละลายน้ำร้อนจะตกผลึกให้เป็นแร่ หรือสายแร่ตามรอยแตก

          เกิดจากแหล่งทุติยภูมิ
          เป็นแหล่งแร่บนลานแร่ (placer deposit) ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มักปนกับแร่หนักชนิดอื่นๆที่ทนกับการสึกกร่อน เช่น แร่แมกนีไทต์ แร่อิลเมไนต์ แร่การ์เนต ทองคำขาว โดยมีชั้นดินหรือกรวดทรายปิดทับชั้นที่มีแร่ไว้ การเกิดแบบนี้ หินต้นกำเนิดมักอยู่ในภูมิ-ประเทศที่เป็นภูเขาหรือพื้นที่ลาดชัน เมื่อเกิดการผุสลายตัวไปตามธรรมชาติ ก็ถูกธารน้ำไหลพัดพาไปจากแหล่งเดิม แต่ทองคำและแร่อื่นที่หนักและทนต่อการสึกกร่อนผุพัง ก็ จะแยกตัวออกจากเศษหินดินทรายอื่นๆ และสะสมมากขึ้นตรงบริเวณที่เป็นแหล่งลานแร่ ซึ่งถ้าเป็น แหล่งแร่ท้องน้ำ (stream deposit) แร่จะสะสมรวมตัวกันมากขึ้นบริเวณท้องน้ำจนกลายเป็นแหล่งแร่ ส่วนการสะสมของแร่ที่มีอยู่ตามไหล่เขา หรือที่ลาดชันใกล้กับหินต้นกำเนิด หรือสายแร่เดิม จะเป็นแหล่งแร่พลัด (eluvial deposit) ต่อมาจะมีตะกอนของดิน ทราย กรวดมาทับถมกันเป็นชั้นหนา จนเกิดเป็นลานหรือแหล่งแร่ทองคำ การผลิตทองคำของโลกส่วนใหญ่จะได้จากแหล่งลานแร่ซึ่งพบได้ในทุกทวีป แหล่งแร่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดอยู่ที่มณฑลทรานสวาล ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตทองคำได้ถึงร้อยละ ๔๐ ของผลผลิตทั่วโลก

          แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย
          ในประเทศไทยได้พบแหล่งแร่ทองคำ มาแล้วในหลายจังหวัด ที่รู้จักกันดี ได้แก่ แหล่งแร่ทองคำโต๊ะโมะ อยู่ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และแหล่งทองคำในเขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งแร่ทองคำในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดเลย ปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่ทองคำในเชิงพาณิชย์ที่แหล่งแร่ทองคำชาตรี ในบริเวณอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้พัฒนาเปิดเหมืองทองคำ รวมทั้งตั้งโรงงานถลุงแร่ทองคำและเงิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔

ไม่มีความคิดเห็น: