ประเทศบรูไนมีชื่อทางการว่า เนการา บรูไน ดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam) มีความหมายว่าดินแดนแห่ง สันติสุข มีเมืองหลวง ชื่อ บันดาร์ เสรี เบกาวัน บรูไนเป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่ไม่ถึง 5,800 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ของ เกาะบอร์เนียว (เกาะใหญ่อันดับ 3 ของโลก ที่มีเขตแดนบางส่วนของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย) มีชายฝั่งด้านเหนือ ติดทะเล จีนใต้ ส่วนดินแดนทางบกที่เหลือถูกล้อมรอบ ด้วยรัฐซาราวักของมาเลเซีย ซึ่งกั้นประเทศออกเป็นสองส่วนคือ ด้านตะวันตกที่มีประชากรอยู่กว่า 97% และด้านตะวันออกที่มีพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าธรรมชาติ บรูไนมีพื้นที่กว่า 70% เป็นป่าไม้เขตร้อน จึงถูกเรียกเป็น “โอเอซิสสีเขียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
บรูไนมีประชากรกว่า 4 แสนคนเท่านั้น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามาเลย์เป็นหลัก มีสังคมและวัฒนธรรม เป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยม สกุลเงินตราที่ใช้คือ ดอลลาร์บรูไน (BND) มีอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 มีนาคม 2559 คือ 1 BND = 25.7 THB
มาดูเรื่องการปกครอง บรูไนมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ นั่นคือ มีสมเด็จ พระราชาธิบดีปกครองเป็นประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม องค์ประมุขในปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัลโบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์
แม้บรูไนจะเป็นประเทศขนาดเล็กอันดับ 2 ของอาเซียน แต่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน โดยเป็น รายได้ที่พึ่งพา การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก มีสัดส่วนถึง 99% ของสินค้าส่งออกโดยบริษัท Brunei Shell Petroleum เป็นผลให้วงจรเศรษฐกิจของบรูไนนั้นยึดติดกับทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาพลังงานตลาดโลกแบบเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันความมั่งคั่ง ของประเทศนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายของราคาน้ำมันโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ที่วิกฤตกว่าคือ การลดลงของปริมาณน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติที่จะหมดลงในราวปี ค.ศ. 2028 – 2032 ทำให้รัฐบาลบรูไนต้อง กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ Wawasan Brunei 2035 ที่ให้ความสำคัญกับ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมเกี่ยวกับภาคเกษตรและอาหารฮาลาล และธุรกิจระดับ SME เป็นต้น
แต่อุปสรรคเฉพาะหน้าของบรูไนที่ต้องเผชิญ คือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ มีข้อจำกัดใน ด้านพื้นที่รวมถึงตลาดในประเทศที่ถือว่าเล็กมาก จึงมีนโยบายเปิดกว้างและเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100% ในเกือบทุกสาขา โดยไม่มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และห้างหุ้นส่วน ไม่มีการเก็บภาษีส่งออก ภาษีขาย ภาษีการผลิต เป็นต้น แต่ยังมีการ เรียกเก็บภาษีนิติบุคคลเฉพาะที่เป็นบริษัทเท่านั้น ล่าสุดภาษีนิติบุคคลมีการเรียกเก็บที่ 18.5% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นลำดับ 2 ในอาเซียน นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก และภาคบริการที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมพลังงานที่บรูไนพยายาม ผลักดันให้ไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาค
มาดูเรื่องของ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับทองคำของบรูไนถึงแม้จะไม่ใหญ่เท่ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม หรือกัมพูชา แต่บรูไน ถือว่าเป็นประเทศสมาชิกในอาเซียนที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับของไทยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องประดับทอง ซึ่งพิจารณาจาก มูลค่านำเข้าเฉลี่ย 503.50 บาทต่อคน สินค้าที่ได้รับความนิยมมากได้แก่ 1.ทองรูปพรรณ 2. เครื่องประดับทองประเภท 18 – 22 K ประดับด้วยเพชร และ 3. เครื่องประดับเงินประดับด้วยพลอยสีเจียระไน โดยเน้นขนาดของเครื่องประดับ ที่มีขนาดใหญ่และหนากว่าของไทยแต่มีน้ำหนักเบา ประเภทสร้อยคอ กำไลข้อมือ และแหวน ที่มีลวดลายรูป ดอกไม้ ส่วนต่างหู ไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้หญิงบรูไนจะสวมใส่ผ้าโพกศีรษะฮิญาบ
ส่วนใหญ่ตลาดซื้อขายเครื่องประดับจะคึกคักในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ และช่วงเทศกาลแต่งงาน อย่างไรก็ตามหลังจากปี 2557 พบว่า ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ เกี่ยวกับเครื่อง ประดับทองคำและอัญมณีลดลงไปอย่างมาก แต่ผู้ค้าเครื่องประดับทองคำ และอัญมณีในบรูไน เช่น บริษัท YGK Jewellery , OKKY Jewellery Sdn Bhd, GH Goldsmith and Jewellers, Phil Goldsmiths and Jewellers เป็นต้น ยังมีความหวังที่ตลาดจะกลับ มาเติบโตอีกครั้ง ปัจจุบันลูกค้าหลักจะเป็นข้าราชการ ซึ่งส่วนมากก็จะซื้อหา เครื่องประดับทองคำหลังจากได้รับโบนัสในช่วงต้นปี
สำหรับราคาเครื่องประดับทองคำจะขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ของทองคำ ถ้าเป็นทองคำ 24K ราคาโดยเฉลี่ยจะอยู่ ประมาณ กรัมละ 67 BND ทองคำ 22K ราคากรัมละ 62.5 BND และ 21K ราคากรัมละ 60 BND สำหรับต้นปี 2559 ราคาทองคำรูปพรรณลดลงเล็กน้อย คือเครื่องประดับ ทองคำ 24K ราคาโดยเฉลี่ย ประมาณ 63 BND ทองคำ 22K ราคากรัมละ 59 BND
ในอดีต การซื้อขายทองคำแท่งสามารถทำได้ที่ธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น เช่น Bank Islam Brunei Darussalam (BIBD) ภายใต้หน่วยงาน BIBD Securities ที่เป็นตัวแทนของธนาคาร Al-Rajhi ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้kทองคำแท่ง PAMP จาก สวิสเซอร์แลนด์ หรือผู้ค้าทองคำ เครื่องประดับที่ได้รับสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง ของบรูไนให้สามารถ จำหน่ายทองคำแท่ง ปกติแล้วทองคำแท่งไม่มีภาษีนำเข้า แต่จะมีการจัดเก็บภาษี 5% สำหรับการนำเข้าทองคำประเภทรูปพรรณ
ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลได้ยกเลิกกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ส่งผลให้ทองคำแท่งไม่ได้เป็นสินค้า ควบคุม หรือสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป สามารถซื้อขายได้ทั่วไปอย่างเสรีเป็นที่นิยมของชาวบรูไน เห็นได้จากการนำเข้าทองคำในปี 2556 จากประเทศอังกฤษมีมูลค่ากว่า 1.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 25% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของปีนั้น แต่มีการ ส่งทองคำออกไปยังประเทศมาเลเซีย เพียง 4 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าชาวบรูไนก็เริ่มที่จะเก็บทองคำแท่งไว้เพื่อ การออม และการลงทุนมากขึ้น (รวมถึงเครื่องประดับทองคำด้วย) โดยราคาทองคำในบรูไนจะอ้างอิงตลาดโลก เช่น ณ วันที่ 15 เมษายน 2559 ตามเวลาที่เมืองหลวง บันดาร์เสรีเบกาวัน 15:48 น. ทองคำ 24K ราคากรัมละ 53.85 BND และทองคำ 22K กรัมละ 49.36 BND เป็นต้น
ถึงแม้บรูไนจะเป็นประเทศเล็กในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่มีศักยภาพที่ดีเพราะรัฐบาลสนับสนุนความร่วมมือ ระหว่างประเทศ แบบพหุภาคีนิยม โดยเฉพาะในส่วนของการดำเนินการของประชาคมระหว่างประเทศภายใต้ “Millennium Goals” นอกจากนี้ รัฐบาลบรูไนยังได้ลงนามข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ ASEAN Comprehensive Investment Agreement หรือ ACIA ครอบคลุมถึงเรื่องการเปิดเสรี การคุ้มครอง การส่งเสริม และการอำนวยความสะดวก ใน 5 สาขา คือ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเน้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนในหลักทรัพย์ เพราะรัฐบาลบรูไนต้องการองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการประกอบธุรกิจในบรูไนคือเรื่องของธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างชาติ บรูไนเป็นชาติที่นิยมสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงนับเป็นโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่สนใจความท้าทายในการประกอบธุรกิจใหม่
หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในแถบอาเซียนนี้ คงไม่ค่อยมีใครนึกถึงประเทศบรูไน เพราะมีตัวเลือกเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ที่โดดเด่นกว่า แต่จริงๆ แล้วบรูไนก็มีความน่าสนใจไม่น้อยในแง่ของประวัติศาสตร์ และธรรมชาติที่สามารถทำให้คุณหลงรักได้ เช่น หมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่ากัมปง ไอเยอร์ มีอายุนับพันปี และโดมแห่งพระราชวังอิสดานา นูรัล อิมาน ที่เป็นที่ประทับของสุลต่านแห่งบรูไน และพระราชวงศ์รวมถึงเป็นทำเนียบรัฐบาลด้วย ว่ากันว่านี่เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีห้องกว่าพันห้อง
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของบรูไนคือ มัสยิดสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน สร้างในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มียอดสุเหร่าเป็นโดมทองคำขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณ ของชาวมุสลิมในบรูไน และยังมีมัสยิดทองคำที่ชาวบรูไนนับถือว่าเป็นสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในประเทศ ในแง่ของสถานที่ให้ความรู้ ก็มีพิพิธภัณฑ์ให้เลือกชมอีก เช่น พิพิธภัณฑ์ รอยัลเรกกาเลีย ที่รวบรวมเครื่องใช้ของสุลต่านไว้มากมาย ประเภทเครื่องเงิน เครื่องทอง มงกุฏ เครื่องราชย์ และเครื่องบรรณาการจากต่างประเทศ มีพิพิธภัณฑ์บรูไนเป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่ที่สุดในประเทศที่บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอิสลาม และสุดท้ายก็พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศ ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์จนถึงปี ค.ศ. 1984 ที่ประเทศได้รับอิสรภาพ เป็นต้น
ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 50 เดือน กรกฎาคม - กันยายน 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น