QE รอบ 3 กับความผันผวนของราคาทอง
ณ วันที่ 10/07/2555
QE รอบ 3
กับความผันผวนของราคาทอง
เดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาทองเริ่มปรับฐานลง หลังจากเดือนมกราคม ราคาดีดตัวขึ้นแรงเกือบ 180 ดอลลาร์ จากระดับปิดของเดือนธันวาคม ปี 2554 ที่ 1,563 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ราคาทองคำทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับฐานลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในการซื้อขายช่วงกลางเดือนมีนาคม
โดยประเด็นลบที่เข้ามากดดันการเคลื่อนไหวของราคาทองมาจากเรื่องโอกาสที่น้อยลงว่าจะมีการประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจากธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน ออกมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือการทำ QE รอบที่ 3 จนทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลทั่วโลก และกดดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับฐานลง แต่สำหรับทองในประเทศนั้น เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็จะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนราคาในประเทศปรับตัวลงน้อยกว่าปกติ ซึ่งในช่วงที่ราคาทองดีดตัวกลับ หากเกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จนราคาทองในประเทศปรับขึ้นน้อยกว่าปกติเช่นกัน
นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกต่างเริ่มประเมินสถานการณ์ ทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยในเบื้องต้นเมื่อธนาคารกลางของสหรัฐไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ เกี่ยวกับการทำ QE รอบ 3 ย่อมมีผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาทองคำให้กลับปรับฐานลง แต่สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงดีดตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง จากมุมมองของนักลงทุนที่ประเมินเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกในทางบวก ย่อมทำให้มีการเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในตลาดสำคัญต่าง ๆ เป็นหลัก รวมทั้งราคาน้ำมันดิบซึ่งมีสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและนานาชาติเป็นประเด็นบวกที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาทองคำ ซึ่งยังมีแรงขายกลับออกมามาก และราคาทองที่เคยขึ้นไปเคลื่อนไหวสูงกว่าราคาแพลทินัมตามแรงซื้อเก็งกำไรจากเรื่อง QE มาตั้งแต่เดือนกันยายนของปี 2554 ก็กลับปรับตัวลงแรงและลงมายืนต่ำกว่าราคาแพลทินัมอีกครั้ง
ในส่วนนี้คาดว่าเป็นผลจากทองคำถูกมองว่าเป็นเงินอีกสกุลหนึ่งที่นักลงทุนจะเลือกถือครองแทนเงินดอลลาร์ เมื่อเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จึงมีการโยกเงินกลับออกจากทองคำเพื่อไปพักไว้ในเงินดอลลาร์ และด้วยส่วนต่างของราคาทองและแพลทินัมซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีส่วนต่างกันราว 300-400 ดอลลาร์ จึงดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับการลงทุนในทองคำ อย่างไรก็ตาม ด้วยทองคำได้เข้ามามีบทบาท ในการลงทุนมากกว่าโลหะมีค่าชนิดอื่น ๆ จึงคาดว่าราคาทองคงยากที่จะกลับปรับตัวลงไปต่ำกว่าราคาแพลทินัมในช่วงนี้
สิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐได้แถลงออกมานั้น หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสนใจมี 2 ประเด็น คือ เรื่องของระดับการว่างงานและเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐไม่เคยระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเห็นระดับเงินเฟ้อว่าควรอยู่ในระดับใด เพราะโดยส่วนใหญ่เงินเฟ้อที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นมักเป็นเงินเฟ้อในระดับสูงที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชน แต่ก็มีบางประเทศที่เงินเฟ้อในระดับต่ำกำลังสร้างปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังกรณีของญี่ปุ่นซึ่งทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางพยายามออกมาตรการเร่งการใช้จ่ายเพื่อให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขยายตัวขึ้น เนื่องจากการที่เงินเฟ้อในระดับต่ำ หมายความว่าระดับราคาสินค้าคงที่หรือปรับลดลง ซึ่งไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหรือบริการออกมาขาย และกระทบต่อการจ้างงานในประเทศในท้ายที่สุด และสำหรับสหรัฐฯเอง รายงานเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียง 0.1% แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการบริโภคของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว และเนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เคยเติบโตขึ้นมาได้จากแรงผลักดันจากเรื่องการบริโภคของประชาชน ดังนั้นรายงานเงินเฟ้อที่ออกมาในช่วงนี้จึงเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ และธนาคารกลางของสหรัฐเองก็ได้ระบุว่าเงินเฟ้อที่ควรจะเป็นของสหรัฐฯนั้น น่าจะอยู่ที่ราว 2% ซึ่งห่างจากระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันมากพอสมควร
แต่ในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่านักลงทุนจะตีความว่าอาจไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารกลางของสหรัฐจะประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม จนทำให้ราคาทองปรับตัวลงแรงในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานตัวเลขการจ้างงานและอัตราการว่างงาน ซึ่งล่าสุด ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 8.2% เป็นประเด็นหลักที่กดดันการลงทุนในทองคำ เพราะตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวขึ้นจนอาจไม่จำเป็นต้องมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเพียงตัวเลขดังกล่าวก็อาจประเมินได้ในลักษณะนั้น แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับระดับอัตราการว่างงานที่ธนาคารกลางของสหรัฐมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่าเป็นอัตราการว่างงานธรรมชาตินั้น อยู่ที่ราว 4-5% ซึ่งยังค่อนข้างห่างไกลกับตัวเลข 8.2% ในปัจจุบัน รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคม กลับเพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่ง หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมามีระดับการเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง จึงยังไม่ควรตัดโอกาสว่าจะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ และในส่วนของระดับอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ในความเป็นจริงก็อาจเป็นผลจากแรงงานที่ว่างงานอยู่บางส่วนยังไม่ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงไม่มีข้อมูลที่จะนำไปใช้คำนวณเป็นกำลังแรงงานที่ว่างงานอยู่ ประกอบกับอากาศที่อบอุ่นผิดปกติในสหรัฐฯ ที่ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นผิดปกติ หากแรงงานที่ยังว่างงานอยู่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และอากาศในสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ปรับตัวลงได้ยาก และหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ราคาทองกลับฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง
จากคำแถลงของประธานธนาคารกลางของสหรัฐครั้งหลังสุด แม้ว่าจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับมาตรการใหม่ที่จะนำมาใช้ต่อจาก Operation Twist ที่กำลังจะหมดอายุในอีกไม่ช้า แต่ในคำแถลงก็ได้ระบุถึงความพร้อมที่จะมีมาตรการรองรับหากว่ามีเหตุจำเป็น ซึ่งคงยังไม่ใช่ในขณะนี้ โดยคาดว่าธนาคาร กลางของสหรัฐคงจะยังรอติดตามรายงานตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน หากรายงานที่ออกมายังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องก็น่าจะมีการออกมาตรการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งออกมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของราคาทองคำในภาพรวมต่อไป ส่วนในระยะสั้น ก่อนที่จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ด้วยราคาทองที่ปรับฐานลงมาแรงติดต่อกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าได้สะท้อนปัจจัยลบจากประเด็นนี้ไปแล้วในระดับหนึ่ง ประกอบกับรายงาน ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว จนทำให้นักลงทุนคงเริ่มกลับมาประเมินถึงโอกาสในการผ่อนคลายทางการเงินที่ยังมีอยู่ ดังนั้นราคาทองคงปรับฐานลงในกรอบจำกัด แต่การฟื้นตัวก็คงจะยังขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ๆ ที่ชัดเจน
การลงทุนในทองคำช่วงที่ตลาดขาดปัจจัยบวกนี้ หากเป็นการลงทุนทองแท่งเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ในช่วงที่ราคาทองปรับตัวลง แต่ในปัจจุบันมีตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงอยู่บนราคาทองคำ ที่เราสามารถนำมาใช้บริหารความเสี่ยงในช่วงที่ทองเป็นขาลงได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่ในช่วงที่ราคาทองแกว่งตัวแคบดังช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งราคาทองแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 1,600-1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้การเก็งกำไรผ่านทองคำแท่งหากไม่ได้ซื้อที่ใกล้จุดต่ำสุดและขายใกล้จุดสูงสุดก็คงมีผลตอบแทนในระดับที่ไม่สูงมาก แต่หากมีการนำเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เข้ามาใช้ร่วมด้วยก็จะสามารถบริหารความเสี่ยงหรือสร้างผลตอบแทนในการลงทุนได้เป็นอย่างดี
ที่มา : คอลัมน์ "GOLD FUTURES" โดย บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด
วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ
www.goldtraders.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น