วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

บริหารสไตล์..แจ็คหม่า เจ้าพ่ออะลีบาบา

การบริหารสไตล์แจ็ค หม่า

หม่า หยุน หรือแจ็ค หม่า ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก
ในฐานะ “บิดาแห่งการสร้างธุรกิจ” ของจีนยุคปัจจุบัน คนจำนวนมากศึกษาค้นคว้าสไตล์และเอกลักษณ์ของการบริหารของเขา คนนับไม่ถ้วนนำสาเหตุที่แจ็คประสบความสำเร็จมาเป็นหัวข้อในการศึกษา ผู้คนต่างรู้สึกว่าแจ็ค มีขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ขุดไม่รู้จักหมดสิ้น

ความคิดและพฤติกรรมของแจ๊กมักต่างจากคนทั่วไป เขามักคิดนอกกรอบและทำให้ผู้คนต้องขบคิด “วาทะของแจ็ค หม่า” ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรตรึกตรองให้ลึกซึ้ง ในบรรดานักธุรกิจของจีน แจ็คถูกมองว่าเป็นผู้มีจิตวิญญาณและบุคลิกเฉพาะตัว ควรถือเป็นแบบฉบับ

แจ็คกล่าวไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่ผลลัพธ์และเป้าหมายไม่ใช่คำพูดโคมลอย กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องอันดับแรกคือ ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อคุณทำสิ่งที่ถูกต้องก็จะเปลืองแรงแค่ครึ่งเดียว แต่ได้ผลเป็นเท่าตัว ถ้าสิ่งที่คุณทำคือความผิดพลาด ต่อให้ทำได้ถูกต้องเท่าใด ก็ยิ่งตายเร็วเท่านั้น”

การบริหารยุทธศาสตร์ : ไม่ต้องการแนวคิดที่สวยหรู แต่ต้องการผลลัพธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติได้จริงทิศทางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาของบริษัท ในยุคแรกการเติบโตของอาลีบาบา เพราะการตัดสินใจนโยบายครั้งใหญ่ผิดพลาดไปครั้งหนึ่ง นั่นคือการรีบร้อนขยายไปสู่ต่างประเทศเร็วเกินไป เกือบทำให้อาลีบาบาอยู่รอดต่อไปไม่ได้ และเกือบล้มละลาย

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาลีบาบา ดึงดูดความสนใจของผู้คนแต่ขณะเดียวกัน การขยายตัวอย่างรวดเร็วก็ทำให้ต้นทุนการดำเนินกิจการของอาลีบาบาสูงขึ้นเรื่อย ๆ รายจ่ายของสำนักงานแต่ละแห่งเป็นตัวเลขมหาศาลอย่างรวดเร็ว เมื่อฟองสบู่อินเตอร์เน็ตแตกในปลายปี 2000 ในบัญชีของอาลีบาบาเหลือเงินแค่เจ็ดล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ตอนนั้นบริษัทอินเตอร์เน็ตจำนวนมากพากันหนีหายตายจาก ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปอาลีบาบาก็ต้องปิดกิจการเช่นเดียวกัน แจ็คต้องรักษาอาลีบาบาไว้ จึงใช้ปฏิบัติการ “ผู้กล้าตัดมือ” คือตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สั่งให้อาลีบาบา “กลับสู่ประเทศจีน”

อาลีบาบาที่กลับสู่ประเทศจีนได้ทิ้งกิจการไปมากมาย แล้วตั้งอกตั้งใจทำ B2B เพื่อบริการลูกค้า SME หลังปรับปรุงยุทธศาสตร์แล้ว อาลีบาบาก็กลับสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในภายหลังแจ็คสรุปสาเหตุของความล้มเหลวครั้งนี้ว่า “ความล้มเหลวของอินเตอร์เน็ตครั้งที่แล้วเกิดจากตนเอง ถ้าไม่ใช่เพราะไข้ขึ้น ก็เป็นเพราะสมองเฉื่อยชา เฉื่อยชาจนเย็นเฉียบ”

ภูมิปัญญาการบริหารของแจ็ค หม่า
แจ็คกล่าวไว้ว่า “ยุทธศาสตร์มีหลายความหมาย ยุทธศาสตร์ของบริษัทเล็ก ๆ ง่ายหน่อย คือการมีชีวิตอยู่ การอยู่รอดสำคัญที่สุด” สำหรับบริษัทหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอยู่รอดให้ได้ และหลังได้กำไรแล้วเท่านั้นจึงจะขยายตัวได้ ถ้าเอาแต่ขยายตัวลูกเดียว คิดจะขยายตัวให้มีชื่อเสียงโดยไม่คำนึงถึงสภาพการเงินของบริษัท ถ้าเช่นนั้น ต่อให้มีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใด บริษัทนี้ยังคงอยู่ได้ไม่นาน

ตามกฎเกณฑ์การแข่งขันของธรรมชาติ ผู้ที่ปรับตัวได้เท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ ถ้าธุรกิจคิดจะอยู่รอดและขยายตัวต่อไปก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับตลาด มุ่งไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่เหมาะกับตน และผนึกกับสภาพของธุรกิจจึงจะทำให้ธุรกิจมีที่ยืนในตลาดอันกว้างใหญ่ เมื่อวิกฤตมาถึง เพื่อเป็นการรักษาบริษัท จึงลดพนักงานขนานใหญ่ คนส่วนมากไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ของเขา

ในฐานะผู้บริหารแจ็คทุ่มเทให้กับการปลอบขวัญพนักงาน เขาตั้งเป้าหมายและโครงการใหม่ให้กับอนาคตของอาลีบาบา แจ็คนำเสนออย่างตรงประเด็น ค่อย ๆ ทำให้อารมณ์พลุ่งพล่านของพนักงานสงบลง แจ็คกล่าวกับพนักงานว่า “ถ้าใครเห็นว่าพวกเราเป็นคนบ้า โปรดออกไป, ถ้าคุณมัวแต่รอให้บริษัทจดทะเบียนในตลาด โปรดออกไป, ถ้าคุณมีเป้าหมายส่วนตัวที่ไม่เป็นคุณต่อบริษัท โปรดออกไป, ถ้าคุณอารมณ์พลุ่งพล่าน โปรดออกไป”

แม้แจ็คจะเป็นยอดนักธุรกิจ แต่เขาก็คือคนธรรมดา ย่อมจะทำสิ่งที่ผิดพลาดในบางครั้ง หลังอาลีบาบาเติบโตอย่างรวดเร็ว แจ็คก็ละเลยต่อวิกฤตการณ์ที่แฝงเร้นอยู่ เขาก็เหมือนกับนักธุรกิจส่วนมาก คิดจะทำให้ธุรกิจของตนเองเติบโตและแข็งแรง ดังนั้นเขาจึงขยายอาลีบาบาอย่างไม่หยุดหย่อน เร่งส่วนแบ่งตลาด วิธีการเช่นนี้แม้จะสร้างมูลค่าได้ในเวลาอันสั้น แต่การขยายตัวที่รวดเร็วเกินไปก็ทำให้บริษัทต้องห่วงหน้าพะวงหลัง มีคนมาก แต่บังคับบัญชาไม่ได้ จนในที่สุดก็ถูกกระแสอันเชี่ยวกรากของตลาดซัดจนพังทลาย แจ็คตระหนักในข้อนี้ จึงปรับยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว

แจ็คเตรียมการกลับมาผงาดอีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม ค.ศ.2001 เขาได้เชิญตัวกวานหมิงเซิง ผู้เคยทำงานกับบริษัท GE ถึง 16 ปี เข้าร่วมกับอาลีบาบา โดยให้ดำรงตำแหน่ง COO (Chief Operating Officer) หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากกวานหมิงเซิง แจ็คจึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์ดึงอาลีบาบากลับสู่จุดเริ่มต้น ทำให้อาลีบาบาวิ่งได้เร็วขึ้นและเข้มแข็งยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา

ดังนั้นจึงกล่าวว่า ธุรกิจต้องอยู่รอดให้ได้เป็นอันดับแรก จึงจะมีกำลังในการรับมือความท้าทาย ถ้าธุรกิจล้มแล้ว สลายไปแล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงความท้าทาย และยิ่งไม่ต้องพูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา สำหรับธุรกิจแล้ว การอยู่รอดต้องมาอันดับหนึ่ง ในฐานะของผู้บริหาร แจ็คถือว่าการอยู่รอดคือยุทธศาสตร์สูงสุด จึงทำให้อาลีบาบาสามารถขยายตัวจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

สิ่งล้ำค่าของคนเราคือการรู้จักตนเอง การทำธุรกิจก็ต้องรู้จักตนเองเช่นกัน แจ๊คประสบความสำเร็จได้ มิใช่เพราะแจ็คฉลาดกว่าผู้อื่น หรือมีกำลังมากกว่าผู้อื่น หากเพราะแจ็ครู้จักย้อนพิจารณาตนเอง โดยมิใช่เอาแต่บุกไปข้างหน้าลูกเดียว แจ็คมักจะหยุดลงในจังหวะที่ตนเองผิดพลาด ย้อนกลับไปมองแล้วไตร่ตรองและถือเป็นบทเรียน จากนั้นจึงลุกขึ้นมาใหม่ตรงจุดที่ล้มลง

ในธุรกิจหนึ่ง ผู้บริหารนอกจากต้องนำพาพนักงานไปทำยอดขายเพื่อผลประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นแล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ รู้จักหยุดฝีก้าว พิจารณาไตร่ตรองดูว่าระหว่างทางนั้น มีที่ใดควรปรับปรุงแก้ไข ผู้บริหารส่วนมากไม่ตระหนักในข้อนี้ พวกเขาเพียงคิดว่าทำกำไรได้ก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริงผู้บริหารที่ดีต้องรู้จักสรุปความผิดพลาด หาระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้อื่นให้พบ ในยามนี้ผู้บริหารต้องปรับท่าทีของตนเองและประสบการณ์

ขอเชิญเรียนรู้ยุทธศาสตร์การบริหารในกรณีศึกษาหลากหลายกรณี วิธีการแก้ปัญหาการบริหารในธุรกิจให้ธุรกิจเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก และภูมิปัญญาการบริหารทีมของแจ็ค หม่า การสร้างทีมงานที่ดี ซึ่งมีความเชื่อว่าการขยายตัวทางธุรกิจไม่มีทางทำได้ด้วยกำลังของคนเพียงคนเดียว หากต้องอาศัยภูมิปัญญาของหมู่คณะ และในฐานะที่เป็นผู้บริหารต้องเป็นผู้บุกเบิกภูมิปัญญาของหมู่คณะ ทำให้คนมีความรู้ความสามารถได้แสดงคุณค่าสูงสุดของตนเอง การกล้าใช้คน และเชื่อถือคนอย่างเต็มที่ นี่คือรากเหง้าของการบริหาร

เรียนรู้ปัญญาทางธุรกิจผ่านการอ่านหนังสือดี ๆ มากมาย ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษทั้งการลงทุนในหุ้น, ตราสารหนี้ หรือตราสารอนุพันธ์ ได้ที่ Business Administration Corner

ห้องสมุดมารวย ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งใหม่ บนถนนรัชดาภิเษก ติดกับสถานฑูตจีน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 21.00 น. เดินทางสะดวกโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ออกประตู 3 ติดตามความรู้ที่น่าสนใจ กิจกรรม และหนังสือใหม่ของห้องสมุดคลิก www.maruey.com

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
ที่มา : การบริหารสไตล์ แจ็ค หม่า
เรื่องโดย : จ้าวเหว่ย แปลโดย : ชาญ ธนประกอบ
#maruey #marueylibrary #Investment #BusinesstoBusiness #BusinesstoCustomer

ไม่มีความคิดเห็น: