วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กฎสามเสา

กฎสามเสา.. บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจด้วยแนวทางเชื่อมโยงสามประสาน

.... 1. การตลาดหาลูกค้า.. 2. การผลิตมีสินค้าไว้ขาย 3. การเงินหมุนเวียนรอบด้านและหากำไร

ดร. ภาณุสฤษฏิ์ บุญคำ

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รัชกาลที่๑๐

ปธ.สนช.แจ้งรับทราบมติครม .อัญเชิญ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ” ขึ้นทรงราชย์ – สนช.พร้อมใจเปล่งเสียง “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

เมื่อเวลา 11.19 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 76/2559 เป็นพิเศษ ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม ได้มีวาระการพิจารณาเรื่อง การดำเนินการตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีผู้เข้าร่วมประชุม 243 คน จาก 250 คน ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม โดยนายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่มีประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต

บัดนี้นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แจ้งว่า บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาอันเชิญองค์พระรัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แจกแก่สมาชิกในห้องประชุม ตามที่ประชุมสนช.ทำหน้าที่รัฐสภา ได้รับทราบการแจ้งมติครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไป ตนจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยสืบไป ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

“ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ผมขอให้สมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่” นายพรเพชรกล่าวให้สมาชิกสนช.ถวายพระพรพร้อมกัน จากนั้น สมาชิกสนช.พร้อมใจกันเปล่งเสียงว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” จากนั้นนายพรเพชรสั่งปิดการประชุมเวลา 11.25 น.

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ระบุหมวดสองเรื่องพระมหากษัตริย์ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี2550 หมวด 2 ใน มาตรา 23 คือ กรณีที่ราชบัลลังก์หาว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้วให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ จากนั้นจะให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

รัชกาลที่ 10

สนช. ประกาศอัญเชิญองค์รัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เเห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 10

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เวลา 11.19 น. ที่ประชุม สนช. รับทราบถึงมติของ ครม. ในวาระการแจ้งการสถาปนาองค์รัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แต่งตั้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแล้วนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2515

สนช. จึงได้ประกาศอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 10 สืบไป สมาชิก สนช. ทั้งหมดได้ยืนขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม พร้อมถวายพระพรชัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ โดยพร้อมเพรียงกัน ในเวลา 11.23 น. ว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ก่อนปิดการประชุม

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทองขาว

ในสหรัฐอเมริกาโลหะสีขาวอย่าง เงิน ทองขาว และแพลทินัมได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นมาก ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลจากกระแสแฟชั่นและการสวมใส่ของเหล่าคนดังบนพรมแดง รวมไปถึงการโฆษณาโดย Platinum Guild International โฆษณาของ Diamond Trading Company โฆษณาทางโทรทัศน์ที่ฉายไปทั่วประเทศจากร้านค้าเครือข่ายขนาดใหญ่ และโฆษณาอันชวนดึงดูดทางสื่อสิ่งพิมพ์จากแบรนด์นักออกแบบเครื่องประดับชั้นสูง

    หากทว่าการเติบโตนี้เดินทางมาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบของผู้ขายเครื่องประดับด้วย ในฐานะผู้ค้าปลีกจะต้องรับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งมีพันธะผูกพันต่อการเปิดเผยข้อมูลว่า เครื่องประดับทองขาวบางชิ้นหรือทุกชิ้นที่ขายนั้น ชุบด้วยโรเดียมหรือไม่ รวมถึงเตรียมรับมือเมื่อลูกค้าคืนสินค้าทองขาวที่วัสดุชุบหลุดลอกออกและเผยให้เห็นทองผสมสีออกเทาหรือน้ำตาลที่อยู่ภายใน

    กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องเปิดเผยว่าสินค้าผ่านการชุบโรเดียม หากแต่เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรทำโดยเฉพาะเมื่อสินค้านั้นมีแนวโน้มที่จะต้องนำมาชุบใหม่เมื่อใช้ไปนานๆ (โดยเฉพาะสินค้าประเภท กำไลและแหวน) ผู้ขายเครื่องประดับบางรายอาจมองว่าการร้องเรียนจากลูกค้าเกี่ยวกับเครื่องประดับที่วัสดุชุบหลุดลอกเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าได้หนทางหนึ่ง ด้วยการเสนอบริการ “ชุบใหม่” สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหานั้น สิ่งนี้ฟังดูดีในเชิงทฤษฎี แต่ด้วยเหตุผลใดจึงต้องรอให้เกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนขึ้นก่อน เพราะลูกค้าที่ผิดหวังจำนวนมากอาจไม่ยอมกลับมาที่ร้านอีกเลยก็ได้ การชุบใหม่อาจมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง วิธีที่ดีกว่าคือการหลีกเลี่ยงปัญหาเสียตั้งแต่แรก แทนที่จะสร้างความผิดหวังให้ลูกค้า

    วิธีการง่ายๆ ที่สามารถทำได้คือ การซื้อเครื่องประดับทองขาวชั้นดีที่ไม่ผ่านการชุบ ซึ่งมีส่วนผสมของแพลเลเดียม โรเดียม และโลหะสีขาวอื่นๆ เป็นสัดส่วนสูง ซึ่งจะช่วยให้ประกาย “สีขาว” มีมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ทำได้และควรทำคือ การตั้งราคาเพิ่มขึ้นอีกระดับสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ โดยอธิบายว่า ชิ้นงานไม่ได้มีแค่เนื้อทอง 14 หรือ 18 กะรัตอยู่เท่านั้น แต่ยังผสมโลหะมีค่าอื่นๆ ด้วย คุณจะสร้างเสริมชื่อเสียงได้ด้วยการบอกลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา และอธิบายว่าทำไมจึงเลือกขายทองขาวที่มีค่าสูงกว่าโดยปกติทั่วไป

    ต่างหูและสร้อยคอซึ่งมักใส่น้อยครั้งกว่า อาจไม่ต้องชุบโรเดียม แต่ก็ต้องไม่ลืมขอให้ผู้ผลิตระบุความหนาของวัสดุชุบ เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุชุบมีความหนาเพียงพอที่จะไม่หลุดลอกเมื่อใช้งานตามปกติ (ความหนาที่เหมาะสมที่สุดคือ 3 หรือ 4 ไมครอนสำหรับเครื่องประดับที่รับแรงเสียดทานตํ่า วัสดุชุบอาจหลุดลอกเร็วขึ้นถ้าชุบมาไม่หนาพอ หรือผิวลูกค้ามีความเป็นกรดหรือมีเกลือมาก) เรื่องนี้เป็นคุณสมบัติทั่วไป แต่มักไม่มีใครถาม ในการทำสัญญาซื้อ คุณควรกำหนดให้ผู้ผลิตรับเปลี่ยนสินค้าใหม่หากมีเครื่องประดับชิ้นใดที่ไม่สามารถคงความขาวเอาไว้ได้ โดยระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้ผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่าย วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมาย ไม่เพียงเฉพาะสำหรับตัวคุณเอง แต่ในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์ให้ลูกค้าด้วย

    เมื่อซื้อสินค้าทองขาว ผู้จัดซื้อควรมีตู้เปรียบเทียบสีซึ่งมีการควบคุมแหล่งกำเนิดแสงให้ตรงกับที่ผู้ผลิตใช้ เพื่อที่ว่าจะได้กำหนด และตกลงระดับความขาวกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเครื่องประดับทองขาวที่ไม่ผ่านการชุบ เพื่อความสอดคล้องกัน คุณสมบัติที่กำหนดนั้นควรเป็นไปตามมาตรฐานสี ซึ่งพัฒนาโดยอุตสาหกรรมพลาสติก (ไม่ใช่แผ่นตัวอย่างสี) มาตรฐานสีสำหรับเว็บ หรือมาตรฐานหมึก Pantone

    การเปิดเผยข้อมูลการชุบไม่จำเป็นต้องกลายเป็นอุปสรรค คุณควรให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เพื่อที่พนักงานจะได้สื่อสารเรื่องนี้กับลูกค้าอย่างสบายใจและมั่นใจ คุณอาจให้บัตรข้อมูลที่ออกแบบมาอย่างสวยงามไปพร้อมกับเครื่องประดับแต่ละชิ้น โดยเป็นการอธิบายกระบวนการผลิต เหตุผลที่การชุบใหม่อาจจำเป็นในอนาคต และขอบเขตการรับประกัน ที่สำคัญต้องแน่ใจว่าสินค้าชิ้นนั้นนำมาชุบใหม่ได้ง่าย ถ้าไม่เช่นนั้นอาจต้องทบทวนให้ดีเสียก่อนว่าจะขายสินค้าชิ้นนั้นดีหรือไม่

    ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องประดับของสหรัฐฯ ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดมาตรฐานสำหรับทองขาว อย่างไรก็ตาม Manufacturing Jewelers and Suppliers of America ได้กำหนดมาตรฐานไว้ โดยเป็นการปฏิบัติตามความสมัครใจ ในฐานะผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เราควรเปิดรับการสร้างมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด และการตรวจสอบตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อที่ว่าเครื่องประดับทองคุณภาพต่ำ และชุบเพียงบางๆ นั้น จะได้ไม่เข้ามาสู่ตลาด อันจะนำไปสู่ความสับสน ความผิดหวัง และ ความไม่พึงพอใจของผู้บริโภค ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งเราต้องต่อสู้หนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อเรียกเงินจากกระเป๋าลูกค้านั้น วิธีการที่ผู้ขายดูแลการซื้อขายเครื่องประดับทองขาวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จที่จะได้รับจากผู้ซื้อเครื่องประดับในอนาคต ถ้าเราไม่กำหนดและยึดถือมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้นในการผลิตและการขายทองขาว ผู้ควบคุมจากภายนอกก็อาจเข้ามากำหนดและบังคับใช้มาตรฐาน ซึ่งเราในฐานะภาคอุตสาหกรรมอาจพบว่าเป็นภาระหนักและสร้างค่าใช้จ่ายสูงก็เป็นได้

ความขาว

    ประเภทของแสงส่งผลอย่างมากต่อการมองเห็นสีขาว กระดาษสีขาวอาจดูเหมือนมีสีขาวอมเขียวเมื่ออยู่ใต้แสงฟลูออเรสเซนต์ มีสีขาวซีดเมื่ออยู่ใต้แสงจากหลอดมีไส้ (Incandescent Light) และมีสีขาวอมชมพูโทนอุ่นเมื่ออยู่ใต้แสงอาทิตย์ยามบ่าย นอกจากนี้ เซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวยในจอตาของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ทำให้ระดับความขาวที่เรามองเห็นนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ขอบคุณภาพจาก : www.moissaniteco.com / www.pantip.com

 

สรรพากร

"สรรพากร" ระบุทุจริตภาษี 1 ล้านเข้าข่ายฟอกเงิน

ณ วันที่ 29/04/2559

"สรรพากร" ระบุ วงเงินผู้กระทำผิดทางภาษีตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะถือว่าเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงิน ย้ำมีอำนาจอายัดทรัพย์สินได้

นายอัครพล ทาแก้ว นิติกรชำนาญการ กรมสรรพากร กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากร มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นการชั่วคราว สำหรับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษี ในทำนองเดียวกันกับการยึด หรืออายัดทรัพย์สิน สำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน จะทำให้ผู้ที่กระทำผิดทางภาษีตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป เข้าข่ายความผิดอาญา และกฎหมายฟอกเงิน 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งไทยจะรับการประเมินดังกล่าวในปีนี้ 

โดยข้อแนะนำของ FATF ได้เสนอให้กำหนดอาชญากรรมเกี่ยวกับภาษี (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องปรามการฟอกเงินและการทำลายระบบภาษีที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความโปร่งใสโดยรวมให้แก่การทำธุรกรรมในประเทศไทย 

“ตามปกติแล้วการหลีกเลี่ยงภาษี การขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ และการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ที่กำหนดให้อาชญากรรม ภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดตามมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” 

ในร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรดังกล่าว จะกำหนดวงเงินการกระทำความผิด ที่เข้าข่ายตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ เป็นการกระทำทำนองเดียวกับการฟอกเงิน คือ

1.การหลีกเลี่ยงภาษี โดยการกระทำให้รายได้น้อยกว่าปกติ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งกรณีนี้ หากมียอดสะสมของการหลีกเลี่ยงภาษีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้ 

2.กรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกรณีการขอคืนภาษีอันเท็จ กำหนดวงเงินความผิดค่อนข้างต่ำ เพราะถือเป็นการล้วงเงินในกระเป๋าจากรัฐโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากร เคยมีกรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ สร้างความเสียหายให้แก่รัฐไปกว่า 4 พันล้านบาท 

3.กรณีการออกใบกำกับภาษีปลอม โดยมีวงเงินรวมในใบกำกับภาษีปลอม ที่นำไปใช้เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง ตั้งแต่ 15 ล้านบาท เข้าข่ายตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ 

“ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจอธิบดีอายัดทรัพย์ เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความผิด แต่การที่เจ้าหน้าที่จะระบุความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น จะต้องมีหลักฐาน โดยระยะเวลาในการตรวจสอบจะอยู่ที่ 90 วัน”เขากล่าวและว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/696131?view=desktop

 

เครื่องประดับ ทองสุโขทัย

ปัจจุบันแม้ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงใด ทว่าทองคำก็ยังคงมีคุณค่าในตัวเองที่ใครๆ ต่างก็ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ เพราะนอกจากทองคำจะเป็นโลหะธาตุมูลค่าสูงซึ่งถูกใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน เนื่องด้วยไม่เสื่อมค่าและมีสภาพคล่องสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากลจึงใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประเทศแล้ว ทองคำยังถือว่าเป็นวัตถุที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว มีสีเหลืองสว่างสดใสและมีความสุกปลั่งเป็นประกายสวยงามสะดุดตา เนื้อทองคำมีความยืดหยุ่นและเหนียวคงทน จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้ทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนทั่วโลกจึงยังนิยมซื้อทองคำหรือเครื่องประดับทองเฉกเช่น ค่านิยมในอดีต โดยเฉพาะชาวเอเชียที่ให้ความสำคัญต่อการสวมใส่เครื่องประดับทองรูปพรรณ ดังที่ยึดถือกันมาตามขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ดั้งเดิม โดยมักใช้ในพิธีหมั้นหรือแต่งงาน ซึ่งแทนค่าสินสอดในการขอแต่งงาน หรือใช้เป็นของขวัญให้แก่กันและกันในโอกาสหรือช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ขณะเดียวกันการสวมใส่เครื่องประดับทองของ ผู้คนในปัจจุบันนอกจากในแง่คุณค่าทางจิตใจและความสวยงามแล้ว ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงฐานะทางสังคมหรือความทันสมัยตามกระแสแฟชั่น อีกทั้งเครื่องประดับทองยังมีบทบาทเป็นสินทรัพย์สะสมความมั่นคงที่เหมาะแก่การลงทุนด้วยเช่นกัน

เครื่องประดับทองอันทรงคุณค่าตามวิถีไทย

    ในประเทศไทยนั้น การนำทองคำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับเฟื่องฟูมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัยต่อเนื่องไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแรกเริ่มเป็นการผลิตเพื่อใช้ในระดับกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงต่างๆ ด้วยยังมีกฎระเบียบแบบแผนในการสวมใส่เครื่องประดับ และห้ามมิให้สามัญชนทั่วไปมีเครื่องประดับได้ จนกระทั่งในช่วงกลางยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติ ทั้งจากยุโรปและจีนเดินทางเข้ามาค้าขายสินค้ากันอย่างคึกคัก รวมไปถึงช่างทองชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการและอาศัยอยู่ในไทยด้วย ทำให้การใช้เครื่องประดับมิได้จำกัดเช่นแต่ก่อน จึงมีการผลิตและการสวมใส่เครื่องประดับกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

    จากทองคำที่มีสถานภาพเป็นเพียงแร่ธาตุหายากชนิดหนึ่ง ได้รับการหล่อหลอมสลักเสลาเกลากลึง ตัดต่อสร้างสรรค์ให้สามารถอวดความงามได้ในรูปของเครื่องประดับอันประณีตอ่อนช้อย โดยอาศัยภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ผ่านการสั่งสมประสบการณ์และทักษะฝีมือความชำนาญทางเชิงช่าง จนกลายเป็นรากฐานทาง ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ และเป็นมรดกทางหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าที่เฟื่องฟู และสืบทอดมาอย่างยาวนานในหลายยุคสมัยของไทยจวบจนปัจจุบัน ส่งผลให้การรังสรรค์เครื่องประดับทองของไทยในยุคสมัยนี้ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยฝีมือเชิงศิลป์ที่วิจิตรงดงาม ซึ่งถ่ายทอดเทคนิคการผลิตมาจากบรรพบุรุษในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้ดั้งเดิมควบคู่ไปกับการประยุกต์พัฒนางานฝีมือ ผสมผสานรูปแบบโบราณและร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชิ้นงาน และสืบสานอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ต่อเนื่องจากความรุ่งเรืองในอดีต

    ปัจจุบันเครื่องประดับทองที่มีจำหน่ายในประเทศไทยนั้น แบ่งออกได้เป็นทองรูปพรรณหรือที่เรียกว่า ทองตู้แดง ซึ่งทำด้วยทองที่มีค่าความบริสุทธ์ 96.50% (23.16 กะรัต) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานตามความนิยมของคนไทย เครื่องประดับทอง 18 กะรัต หรือมีเนื้อทองอยู่ 75% ซึ่งมักตกแต่งอัญมณีร่วมด้วย และเครื่องประดับทองอีกหนึ่งประเภทที่เปรียบเป็นดั่งงานศิลป์ชั้นสูงที่สวมใส่ได้ ซึ่งนับวันทรงคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ เครื่องประดับทองโบราณ ที่ทำด้วยทองคำ 99.99% (24 กะรัต) ซึ่งเครื่องประดับทองโบราณนั้นมิได้มีความหมายถึงเครื่องประดับล้าสมัยเก่าครํ่าครึ หากแต่หมายถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรมงานศิลป์ฝีมือช่างขั้นสูงที่ส่งผ่านลงไปยังชิ้นงานด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน และเทคนิคการสร้างลวดลายรังสรรค์งานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือช่างที่เชี่ยวชาญ อันมิอาจนำเครื่องจักรอัตโนมัติใดมาทดแทนได้

    หากจะเอ่ยถึงเครื่องประดับทองโบราณอันลือชื่อของไทยที่นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า คงต้องกล่าวถึง “เครื่องประดับ ทองสุโขทัย” ซึ่งมีลักษณะพิเศษจากกระบวนการผลิตด้วยมือทั้งหมด และใช้วัตถุดิบทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงถึง 99.99 % ด้วยเทคนิคการผลิตที่ได้จากการศึกษาและฟื้นฟูกรรมวิธีการถักทองของคนโบราณในยุคสมัยสุโขทัยขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาและผสมผสานแนวคิดสร้างสรรค์สู่การประดิษฐ์รูปแบบใหม่ๆ จนกลายเป็นขึ้นงานเครื่องประดับที่มีคุณค่าแฝงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากลวดลายหรือการออกแบบ เช่น ลักษณะการถักเส้นทอง การทำลูกประคำ การฉลุลายบนชิ้นงาน การลงยาเพิ่มสีสัน รวมถึงกระบวนการผลิตที่อาศัยจินตนาการ ความเชี่ยวชาญ และความมานะอดทน จนถ่ายทอดออกมาเป็นงานเครื่องประดับทองแห่งยุคสมัย โดยมีต้นแบบ หรือแรงบันดาลใจมาจากการประยุกต์ลวดลายโบราณ ทั้งจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เป็นรากเหง้าของวิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ปะติมากรรม รูปเคารพ ลายปูนปั้น และภาพจิตรกรรมฝาผนัง อาทิเช่น ลายนางพญา ซึ่งมีที่มาจากลายปูนปั้นของวัดนางพญา ลายเครือวัลย์ที่เลียนแบบมาจากเถาวัลย์ เป็นต้น

เอกลักษณ์การรังสรรค์เครื่องประดับทองสุโขทัย

    กรรมวิธีการผลิตเครื่องประดับทองตามแบบฉบับทองสุโขทัยนั้นมีหลายขั้นตอนด้วยกัน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความพิถีพิถันและฝีมืออันประณีตทั้งสิ้น โดยเริ่มจากการหลอมทองคำแท่งบริสุทธิ์ซึ่งมีเนื้อทอง 99.99% ปราศจากโลหะอื่นๆ และน้ำประสานทองเจือปน เนื่องจากคุณภาพของเนื้อทองคำมีผลต่อความยากง่ายในการขึ้นชิ้นงานเครื่องประดับ เพราะทองบริสุทธิ์นั้นมีความอ่อนนุ่มยืดหยุ่นดี เหมาะแก่การทำเครื่องประดับทองตามรูปแบบของช่างทองโบราณ และด้วยความที่เป็นทองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เครื่องประดับมีสีทองเปล่งปลั่งกว่าทองรูปพรรณทั่วไปที่มักทำด้วยทองคำ 96.50% เมื่อช่างทองนำทองคำแท่งมาหลอมให้ละลายโดยการเป่าไฟในเบ้าหลอม จนทองละลายกลายเป็นของเหลว แล้วจึงเทลงในรางสี่เหลี่ยม เมื่อทองแข็งตัวจับเป็นแท่งแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตีทองหรือรีดทอง ช่างทองจะนำทองที่หลอมแล้วมาตีแผ่เป็นแผ่น หรือรีดยาวเป็นเส้น หรือเป็นแผ่น โดยใช้เครื่องรีดแผ่นทอง และเครื่องชักทองเป็นเส้นขนาดต่างๆ กันตามความต้องการ

    หลังจากกระบวนการข้างต้นแล้วจึงนำมาสู่วิธีการประดิษฐ์ชิ้นงานทองสุโขทัย ด้วยการขึ้นรูปทรงและลวดลายทองรูปพรรณหลายลักษณะ ได้แก่ การถักทอง ซึ่งมีทั้งการถักลวดลายแบบกลมที่เกิดจากจำนวนทองน้อยเส้น ตั้งแต่ลายสามเสาถึงลายสิบเสา และการถักลวดลายแบบแบน อาทิ ลายเปีย ลายยี่สิบเสา ลายยี่สิบสี่เสา ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับทำสร้อยข้อมือ การขึ้นลูกประคำทองที่มีลักษณะเหมือนลูกปัดมีทั้งทรงกลมและทรงรี ด้วยการนำแผ่นทองที่ตีได้ไปตอกลงในรางโอ ซึ่งเป็นแบบขึ้นรูปทรงมีลักษณะเป็นหลุมหลายขนาด โดยตอกให้เป็น 2 ฝา แล้วจึงนำมาประกบกัน และเจาะรูตรงกลางทะลุถึงกันเพื่อใช้สำหรับร้อยตกแต่งขึ้นงาน การขึ้นปีบซึ่งเป็นการนำทองที่รีดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆ กันมาประกอบเชื่อมต่อกันด้วยน้ำประสานทองแล้วจึงปิดฝาและเจาะรูหัวท้าย จากนั้นจึงนำชิ้นงานทองลักษณะต่างๆ มาร้อยเรียงและเชื่อมประกอบกันให้เป็นเครื่องประดับลวดลายแบบไทยตามจินตนาการเชิงศิลปะของช่างทองแต่ละคน

    นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับทองอีกหลายขั้นตอน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การลงยาด้วยหินสี เช่น สีแดง เขียว น้ำเงิน สำหรับตกแต่งเครื่องประดับให้มีลวดลายสีสันสวยสดงดงาม แทนการประดับเพชรพลอยสีต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของเครื่องประดับทองสุโขทัย ซึ่งองค์ความรู้ในการผลิต เครื่องประดับทองเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลาน และขยายเป็นชุมชนช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับทองในตำบลท่าชัยและตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มานานกว่า 20 ปี โดยปัจจุบันมีร้านค้าผู้ผลิตที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายสิบราย อาทิ บ้านทองสมสมัย ผู้ริเริ่มงานเครื่องประดับทองสุโขทัย บ้านทองสมศักดิ์ อรอนงค์ช่างทอง ร้านทองนันทนา เป็นต้น

    ด้วยสองมือที่บรรจงสร้างสรรค์เครื่องประดับทองตามแบบอย่างเครื่องทองสมัยโบราณทำให้ได้มาซึ่งงานทองหัตถศิลป์ล้ำค่าหลากแบบหลายลวดลาย ทั้งในรูปแบบเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล แหวน ต่างหู จี้ เข็มขัด กรอบพระ หรือจะเป็นชิ้นงานตามที่ลูกค้าสั่งพิเศษ เช่น ทับทรวง รัดเกล้า กำไลแขน ไปจนถึงเครื่องประดับตามโบราณวัตถุอย่างพระพุทธรูปที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง จนสามารถครองใจผู้ที่นิยมชมชอบในงานเครื่องทองสไตล์โบราณได้เป็นอย่างดี เพราะต่างรู้ดีว่าความวิจิตรของลวดลายทอง อันประณีตอ่อนช้อยที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมือของช่างชาวศรีสัชนาลัยในสุโขทัยนั้น เป็นที่เลื่องชื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามวิจิตรแตกต่างจากเครื่องประดับทองโบราณที่มีจำหน่ายอยู่บ้างในบางภูมิภาคของไทยรวมถึงใน กรุงเทพฯ หรือทองรูปพรรณที่วางขายตามร้านค้าทองทั่วไป จนทำให้เครื่องประดับทองสุโขทัยเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่มักเดินทางไปซื้อหากันถึงแหล่งผลิตเลยทีเดียว ซึ่งไม่เพียงมีรูปแบบ เครื่องประดับให้เลือกสรรมากมาย แต่ยังเป็นโอกาสในการเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)