เจาะลึกอุตสาหกรรมทองคำใน สปป.ลาว
ณ วันที่ 29/04/2559
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เรียกสั้นๆ ว่า สปป. ลาว ถือเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ประเทศหนึ่ง เพราะสภาพภูมิประเทศ ที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นทวีปเก่าก่อให้เกิดภูเขาสลับกับที่ราบหุบเขา มีแหล่งแร่สำคัญเช่น เงิน ทองคำ ทองแดง ดีบุก สังกะสี ขุดพบที่เหมืองเซโปน เมืองวีละบุลี ในแขวงสะหวันนะเขต แขวงอุดมไซ แขวงอัตตะปือ และแขวงเซกอง เป็นต้น
อุตสาหกรรมเหมืองแร่นี้สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างปัญหาสังคมก่อให้เกิดมลภาวะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อประชาชนลาวเป็นอย่างมาก จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีความกว่า 10,000 คดีในปี 2554
เหมืองแร่ทองคำเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในลาวมีอย่างน้อย 2 เหมือง คือ เหมืองเซโปน (?MMG Lane Xang Minerals Ltd. ที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นอยู่กว่า 90% และรัฐบาลลาวอีก 10%) อยู่บริเวณภูหินส้ม และเหมืองภูเบี้ย (Phu Bia Mining Ltd. ที่ถือหุ้น 90% โดยบริษัท PanAust หรือ Pan Australian Resources Ltd. ซึ่งเป็นบริษัท ที่จัดตั้งขึ้นของประเทศออสเตรเลียโดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากมณฑลกวางตุ้งของจีนคือบริษัท Guangdong Rising Assets Management Co. Ltd, GRAM และรัฐบาลลาวอีก 10%)
อย่างไรก็ตาม เหมืองเซโปน (Sepon) ได้ถูกระงับการผลิตทองคำไปตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากปริมาณแร่ทองคำในธรรมชาติลดลงอย่างมาก คงเหลือแต่การผลิตทองแดงในปัจจุบัน ส่วน PanAust ยังคงผลิตทองอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เหมืองภูคำ หรือ ภูขาม (Phu Kham Copper-Gold Operation) และเหมืองบ้านห้วยทราย (Ban Houayxai Gold-Silver Operation) ถึงแม้ว่าลาวจะมีเหมืองที่ผลิตทองคำได้มากแต่จากข้อมูลของ World Gold Council ในเดือนพฤษภาคม 2558 ระบุว่าลาวถือครองทองคำสำรองในประเทศเพียง 8.9 ตันซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยกว่า 17 เท่าตัว
ลาวมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่าการนำเข้าอยู่กว่า 6 เท่า ในเชิงมูลค่าของผลผลิต ตลาดการนำเข้า-ส่งออกของลาวที่สร้างมูลค่าทางการตลาดนับพันล้านเหรียญสหรัฐก็มี ประเทศเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และ สวิสเซอร์แลนด์ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ เป็นการส่งออก โดยโรงงานใหญ่กลับไปยังประเทศของผู้ผลิตเอง เช่น ทองคำแท่ง ส่งกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย และจีน ส่วนเครื่องประดับประเภททองคำ และทองคำขาว จะมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของลาว
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของลาว จะต้องสั่งซื้อและนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นทองคำรูปพรรณ จึงเป็นสาเหตุให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศจากโรงงานขนาดเล็ก และการผลิตแบบครอบครัวมีต้นทุนที่สูง เช่น เครื่องประดับประเภท กำไล สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู และแหวน เป็นต้น
ส่วนใหญ่แล้วลาวจะมีแต่โรงงานขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศที่ใช้ผลิตและขึ้นรูปเครื่องประดับ และเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่จะอาศัยการผลิตแบบ hand-made ซึ่งจะเน้นที่ลวดลายแบบลาวเดิม แสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศ การจำหน่ายทองแท่งในประเทศมีไม่มากนัก เพราะกำลังซื้อไม่สูง
ตลาดเช้าในนครหลวงเวียงจันทน์ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับทองคำและเงิน เครื่องประดับทองคำในลาวมีทั้งแบบ 18K และ 24K แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์ประมาณ 98-99% มีสีเหลืองอมส้ม มีลวดลายที่โดดเด่น แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และกลิ่นอายของอารยธรรมล้านช้าง
โดยปกติ ร้านค้าหรือช่างทองจะซื้อทองคำแท่งจากธนาคารแห่งชาติลาว มาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับ ร้านจำหน่ายเพชรและทองมีอยู่ทุกแขวง แต่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก จึงมีการแข่งขันกันสูง เครื่องประดับทองคำก็จะขายโดยชั่งน้ำหนักเป็นกรัม มีการใช้น้ำหนักทองเป็น บาท และสลึง เช่นเดียวกับในประเทศไทย
การกำหนดราคาทองคำรูปพรรณจะอ้างอิงราคาของตลาดโลก และบวกค่ากำเหน็จ ประมาณ 200 – 500 บาท แล้วแต่ลวดลาย หากมีเพชรหรือพลอยประดับ ก็จะมีค่ากำเหน็จสูงขึ้นประมาณ บาทละ 1,000 บาท ส่วนต่างของราคาทองคำแท่งขายออกกับรับซื้อคืน โดยประมาณจะอยู่ที่ 200 – 300 บาท ร้านค้าที่ขายทองคำแท่ง ก็จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 5 บาท ไปจนถึง 65.6 บาท (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และสามารถแบ่งขายได้ หากลูกค้าต้องการน้ำหนักที่น้อยกว่านี้ หากเป็นทองรูปพรรณก็จะมีส่วนต่างของราคาขายออก และรับซื้อคืนโดยประมาณ 800 – 1,000 บาท การซื้อขายทองคำในลาวนั้นจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาต่างๆ เช่น เทศกาลใหญ่ประจำปี หรือช่วงรอยต่อระหว่าง ฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เป็นต้น
จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงหลังจากปี 2558 นี้จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบของการแปรรูปเพื่อการส่งออกและมีการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะต่ำ ในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งสิ้น 60 แห่ง โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ประมาณ 54 แห่งจะตั้งอยู่ในประเทศลาว และกัมพูชา
ส่วนประเทศไทยนั้นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดย คสช. ได้มีประกาศ กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้แล้ว 5 แห่ง คือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้งหมดก็จะมีบทบาทในเชิงโลจิสติกเกี่ยวกับการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานแห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางต่อไปยังถนนหลวงของลาว ซึ่งเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิงของประเทศจีนโดยตรง และเป็นเส้นทางที่สำคัญเส้นทางหนึ่งในยุค AEC ที่จะถึงนี้
ในอดีตกว่า 240 ปีมาแล้วชนชาติลาวอาศัยอยู่ในอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เคยอยู่ในความปกครองของไทยมากว่า 114 ปี จนถึงยุคการล่าอาณานิคม ที่ไทยจำต้องยกดินแดนลาวทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส แต่หลังจากสงครามที่เดียนเบียนฟูในปี พ.ศ. 2496 ลาวก็ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส และกลับมาปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ จนถึง พ.ศ. 2518 ก็เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม ภายใต้ประมุขของประเทศที่เรียกว่า ประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี
ปัจจุบันประเทศลาวคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เรียกสั้นๆว่า สปป. ลาว (The Lao People’s Democratic Republic) เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กกว่าไทยอยู่กว่าครึ่งหนึ่ง และมีประชากรน้อยกว่าไทยถึงเกือบสิบเท่า ลาวมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 17 แขวงหรือจังหวัด และ 1 เขตการปกครองพิเศษ คือ นครหลวงเวียงจันทน์ ส่วนแขวงที่สำคัญคือ แขวงสะหวันนะเขต แขวงจำปาสัก และแขวงหลวงพระบาง ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของลาว เช่น พระธาตุพูสี และพระราชวังเจ้ามหาชีวิต เป็นต้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองของลาวคือ พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ที่มีประวัติอันยาวนานตามที่ระบุไว้ในตำนานอุรังคธาตุ หรือวรรณกรรมตำนานพระธาตุและพระบาท ในดินแดนล้านช้างว่าก่อสร้างมานานกว่า 2,300 ปีแล้ว เช่นเดียวกับตำนานพระธาตุพนมของไทย
ไทยกับลาวมีความใกล้ชิดทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม เกื้อหนุนกันทางเศรษฐกิจ โดยมีโครงการเชื่อมต่อกันทางบก ในรูปของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงทั้งหมด 6 แห่ง เชื่อมต่อกับ 6 จังหวัดของไทยคือ หนองคาย มุกดาหาร นครพนม เชียงราย บึงกาฬ และอุบลราชธานี เงินตราของประเทศลาวเรียกว่า กีบลาว (LAK) และ 1 กีบมี 100 อัด ในปัจจุบัน 1 บาท (THB) จะมีค่าประมาณ 240 กีบ (LAK)
ชาวลาวเป็นชนชาติที่เคร่งครัดในพุทธศาสนา และยังคงเอกลักษณ์ในเรื่องเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามแนววัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณ
ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 47 เดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น