วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

ทองคำ

ทองคำนั้นสื่อความหมายถึงสิริมงคล และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี พิธีกรรมทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีแต่งงาน เหตุผลอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะการครองคู่นั้น นอกจากความรักแล้ว หากยังต้องการความมั่นคงทางการเงิน แล้วความมั่นคงใดเล่าจะเท่ากับความอบอุ่นที่ได้จากทอง  ซึ่งยิ่งนานวันเจ้าจะยิ่งทวีค่า  ดังนั้นทองคำจึงมีบทบาทในประเพณีมงคลทั้งของชาวตะวันตกและตะวันออก  เช่น

งานแต่งงานแบบจีน ถือว่าสีแดงกับทองเป็นมงคล  และพิธีแต่งงานแบบจีน จะมีทองเข้าไปเกี่ยวข้องหลายขั้นตอน  นับตั้งแต่ของหมั้น ที่นิยมเป็นทองรูปพรรณสี่อย่าง เรียกว่า “สี่เตียมกิม” ประกอบด้วย ต่างหู แหวน สร้อยคอและกำไล  โดยฝ่ายหญิงก็จะมอบแหวนทองให้เจ้าบ่าว  และมีเอี๊ยมแต่งงาน บรรจุเหรียญมังกรทอง ของมงคลอื่น ๆ รวมทั้งปิ่นทอง “ยู่อี่”  ที่แปลว่าสมปรารถนา  และสายเอี๊ยมนั้นยังต้องคล้องสร้อยทองด้วย นอกจากนั้น พ่อแม่เจ้าสาวต้องจัดทรัพย์สิน เงินทองให้เจ้าสาวติดตัวไปและเมื่อถึงเวลายกน้ำชา ผู้ใหญ่ก็มักจะให้ทองคำเป็นของขวัญด้วย

งานมงคลสมรสแบบไทย นั้นมีทองเป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน ทั้งเป็นของหมั้นที่เรียกว่า ทองหมั้น ซึ่งจะเป็นทองแท่ง หรือทองรูปพรรณก็ได้ จากนั้นเมื่อถึงเวลายกขันหมาก ขบวนเจ้าบ่าวก็ต้องผ่านประตูทอง ที่ใช้เข็มขัดหรือสร้อยทองกั้น เป็นด่านซึ่งจะได้ซองค่าผ่านประตูมากเป็นพิเศษ และผู้ใหญ่ก็จะมอบทองเป็นของรับไหว้แก่คู่บ่าวสาว  เพื่อนำไปสร้างเนื้อสร้างตัว อีกทั้งเด็กๆ ญาติฝ่ายชายที่ยกขันหมากมา ก็จะได้รับทองคำจากฝ่ายเจ้าสาวเป็นสินน้ำใจเช่นกัน

น้ำหนักประกาย

ในเมื่อทองคำหมายถึงทุนรอนของคู่บ่าวสาว  เนื้อทองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเลือกสรรกันเป็นพิเศษให้มีคุณค่าอย่างแท้จริง 

เนื้อทองธรรมชาติ   หรือทองบริสุทธิ์ ไม่มีแร่อื่นเจือปน   จะมีสีเหลืองเข้มออกแดง สมัยโบราณเรียกว่า “ทองชมพูนุท หรือทองนพคุณเนื้อเก้า  โดยถือตามรูปแบบการซื้อขายทองของชาวเชียงแสนโบราณที่กำหนดราคาทองเนื้อสูงสุดไว้ที่น้ำหนัก 1 บาท ซึ่งเท่ากับราคาเงิน 9 บาท   จึงเรียกว่าทองเนื้อเก้า รองลงมาก็เป็นเนื้อแปด เนื้อเจ็ด ตามลำดับ   หากมีเศษเกินบาท เช่น 2 สลึง จะเรียกเป็น “ขา”  เช่น ทองน้ำหนัก 1 บาท เท่ากับราคาเงิน 8 บาท 2 สลึง  จะเรียกว่า ทองเนื้อแปดน้ำสองขา  เป็นต้น แหล่งทองชมพูนุทที่ค้นพบตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ ขุมทองบางสะพาน ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภออยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เมื่อพูดถึงทองบางสะพานจึงหมายถึงทองเนื้อดีที่สุด

สำหรับทองเนื้อรองลงมาจะมีโลหะอื่นเจือปน ทำให้ได้สีต่างกันออกไป เช่น

ทองสีดอกบวบ คือทองเนื้อหกสีเหลืองอ่อน 
ทองนอก หมายถึงทองคำที่ผสมโลหะอื่นลงไปจนกลายเป็นทองทางอย่างที่นิยมกันทางตะวันตก
ทองคำขาว เกิดจากการนำทองคำไปผสมกับเงินนิกเกิล และ/หรือสังกะสี  ทำให้มีสีเงินเงางาม
นาก  เป็นโลหะผสมสีทองอมแดงอ่อน ได้จากการนำทองคำ เงิน และทองแดงมาหลอมรวมกัน ถ้าผสมแล้วได้สีทองออกชมพู จะเรียกว่า ทองสีกุหลาบ หรือ โรสโกลด์ 
สามกษัตริย์ คือชื่อเครื่องประดับสามสีที่ประกอบด้วยทอง เงินและนาก
ความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตามมาตรฐานปัจจุบันมีหน่วยวัดเป็นกะรัต หมายถึง น้ำหนักของทองคำบริสุทธิ์ที่ใส่ลงในเนื้อโลหะผสม ทอง 100% หรือทองคำบริสุทธิ์ จะมีค่าเท่ากับ 24 กะรัต เรียกย่อว่า ทอง 24 เค   ถ้าเป็นทองคำ 18 เค  ก็หมายความว่ามีเนื้อทองคำบริสุทธิ์อยู่ 75% ผสมกับโลหะอื่นอีก 25%

ทองคำธรรมชาติมีความอ่อนตัวสูง  เมื่อจะนำมาประดิษฐ์เป็นทองรูปพรรณ จึงต้องเจือโลหะอื่นคงไปเล็กน้อย  เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง  ความบริสุทธิ์ของทางรูปพรรณไทยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 96.5%  ขึ้นไปถึง 99.99%

ส่วนการซื้อขายทองจะคิดตามน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง น้ำหนักทองนั้นมีหน่วยวัดต่างกันไป  แต่พอจะเทียบได้ดังนี้

ทองรูปพรรณ หนัก 1 บาท  เท่ากับ  15.16 กรัม
ทองคำแท่ง  หนัก 1 บาท  เท่ากับ 15.244 กรัม
ทองคำหนัก 31.104 กรัม เท่ากับ 1 ออนซ์
ทอง 32.1508  ออนซ์  เท่ากับ 1 กิโลกรัม
เมื่อทราบน้ำหนักและค่าความบริสุทธิ์ของทองแล้ว  หากเป็นทองแท่งให้นำไปเทียบกับอัตรา ราคาทองคำในตลาด  โดยคิดออกมาเป็นราคามาตรฐาน แต่ถ้าเป็นทองรูปพรรณ ทางร้านจะเพิ่มค่ากำเหน็จหรือ ค่าฝีมือช่างทำทองเข้าไปด้วย  จึงทำให้มีราคาสูงกว่าทองแท่งในน้ำหนักที่เท่ากัน  ค่ากำเหน็จนี้ไม่มีเกณฑ์แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นกับความงดงามของชิ้นงานอันเกิดจากศิลปะการออกแบบ  และความวิจิตรของฝีมือช่างทำทอง

คัดสรรรักษา

การคัดสรร   ด้วยเหตุที่ทองรูปพรรณเป็นเครื่องประดับที่มีค่าและราคาค่อนข้างสูง และยิ่งเป็นทองหมั้นก็ยิ่งมากด้วยความหมาย การเลือกซื้อจึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ควรพิจารณาเฉพาะร้านที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้และมีตราประทับรับรอง  รวมถึงมีบริการหลังการขาย เช่น การซ่อมแซม การทำความสะอาด โดยรูปแบบของทองก็ต้องให้ถูกใจและควรใช้ได้จริง (ในสมัยโบราณ อาจนิยมมอบเข็มขัดทองเป็นของหมั้น แต่ยุคปัจจุบัน สร้อย แหวน กำไล ต่างหู น่าจะสวมใส่ได้บ่อยกว่า)

สำหรับการดูแลรักษาทองรูปพรรณ  ควรต้องคำนึงไว้เสมอว่าทองเป็นโลหะอ่อน การเก็บรักษาจึงควรใส่กล่องบุผ้านุ่ม  เช่น ผ้าซาติน กำมะหยี่ ที่สำคัญควรเก็บแยกชิ้น เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกันจนเป็นรอยขูดขีด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเพชรพลอยฝังด้วย ยิ่งต้องระวัง หากเป็นชิ้นเล็ก ให้ห่อด้วยกระดาษนุ่มก่อนเก็บลงกล่อง

การทำความสะอาดทอง  หลังสวมใส่ควรเช็ดด้วยหนังชามัวร์  หรือผ้านิ่ม ๆ หากสีทองหมองลง  ควรล้างด้วยน้ำยาล้างทอง หรืออาจใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำอุ่น เวลาล้างไม่ควรขัดถูแรง  หากสีหมองมาก และเป็นเครื่องประดับที่มีลวดลายละเอียด  ควรแช่ในน้ำเดือด ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตหนึ่งหยิบมือ  แช่ไว้ประมาณ 30 วินาที โดยแช่ทีละชิ้น จากนั้นซับให้แห้งด้วยผ้านิ่ม  แต่วิธีการแช่น้ำเดือดนี้ ห้ามใช้กับเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยพลอยเนื้ออ่อน  และหากยังไม่มั่นใจ ควรส่งให้ช่างที่ร้านทำความสะอาดจะดีกว่า  แล้วเครื่องประดับทองคำแสนรักก็จะงดงามคงคุณค่าตราบนานเท่านาน

ข้อมูลจาก
http://www.wedding.in.th/guide_ideas/jewelry/guide_gold.php

ไม่มีความคิดเห็น: