ฟูจิ ซีร็อกซ์ มุ่ง R&D ฝ่ากระแส Digital Disruption
updated: 27 ธ.ค. 2559 เวลา 09:45:10 น.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านดิจิทัล (Digital Disruption) กระทบกับองค์กรธุรกิจไม่น้อย โดยมีการสำรวจพบว่า บริษัทใหญ่ที่ติดอันดับ Fortune 500 ปัจจุบันราว 52% เริ่มปิดกิจการไปแล้ว และอายุเฉลี่ยของบริษัทปัจจุบันเหลือแค่ 15 ปี
สำหรับ "ฟูจิ ซีร็อกซ์" ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2505 ไม่กังวล
"ฮิโรชิ คูริฮารา" ประธาน บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่า การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลไม่เป็นปัญหากับบริษัท เพราะปฏิรูปทั้งองค์กร และผลิตภัณฑ์ให้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลมานานแล้ว ทั้งการพัฒนาการเชื่อมต่อเข้ากับดีไวซ์ที่หลากหลายตามเทรนด์โลก อาทิ Internet of Things (IoT) Big Data ที่ต้องพัฒนาการบริหารจัดการด้านข้อมูลมารองรับ
"ทุกวันนี้มีข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งที่บริษัทได้ทำแล้วและจะต้องทำต่อไปคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องมือใหม่ ๆ ให้อัจฉริยะมากขึ้น ทุกวันนี้ถึงจุดที่ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลทั้งหมด แต่สำหรับฟูจิ ซีร็อกซ์ ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เป็นสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าบริษัทยังเข้มแข็ง และรับมือกับกระแสโลกดิจิทัลได้"
โดยอาศัยจุดแข็งของบริษัทที่เชี่ยวชาญการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในหลายรูปแบบไม่ได้จำกัดเฉพาะกระดาษ แต่ยังมีทั้งบทสนทนา, รูปภาพ, เสียง, เอกสาร ที่เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจทุกวัน
หนึ่งปีมานี้ได้ปฏิรูปธุรกิจให้มุ่งเน้นไปที่โซลูชั่น และบริการให้สอดรับกับสภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอย ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและมุ่งเน้นสู่ "Industry 4.0" ที่ครอบคลุมทั้ง Big Data, IOT และการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
ธุรกิจใหม่-ตลาดใหม่เติบโต
"คัตสึฮิโระ ยานากาวา" ผู้อำนวยการและรองประธานบริหาร ฟูจิ ซีร็อกซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่รายได้กว่า 68% มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นสำหรับสำนักงาน (Office Products) กับเครื่องพิมพ์สำนักงาน (Office Printers) แต่ล่าสุดในปี 2558 ลดลงเหลือราว 59% ขณะที่รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นระดับโปรดักชั่น (Produc-tion Services) และการบริการบริหารจัดการกระบวนการด้านงานเอกสารแบบครบวงจร (Global Services) ได้ปรับสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 32% มาอยู่ที่ 41%
ขณะที่รายได้รวมในปี 2558 (งบการเงินสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2559) อยู่ที่ 1,183,400 ล้านเยน (ราว 361,527 ล้านบาท) ยังมาจากญี่ปุ่นและต่างประเทศในสัดส่วนเท่ากันคือ 50% ต่างจากในปี 2552 ที่เป็นรายได้จากญี่ปุ่นถึง 63% โดยรายได้จากตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกและจีน เติบโตถึง 3% ขณะที่ตลาดในภูมิภาคอื่นอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นของบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดดังกล่าวถึง 28% เป็นอันดับ 1 ในตลาด
เอเชีย-แปซิฟิกตลาดสำคัญ
"มาซาชิ ฮอนดะ" รองประธานอาวุโส บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และประธานบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด กล่าวว่า เอเชีย-แปซิฟิกเป็นอีกตลาดสำคัญ สร้างรายได้กว่า 25% ของรายได้รวม ทั้งประสบความสำเร็จในการทำตลาดครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นสำหรับสำนักงาน ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 28% กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นระดับโปรดักชั่น ครองอยู่ 61%
กลยุทธ์สำหรับตลาดเอเชีย-แปซิฟิก คือ Smart Work Gateway ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้กับลูกค้า โดยใช้ผสานระบบคลาวด์ สร้างความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้งานแบบโมบาย การรองรับการทำงานด้านเอกสารที่ซับซ้อนให้บริหารจัดการง่ายดาย
โดยจะมีนำเสนอโซลูชั่นและบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศซึ่งจะโฟกัสไปในอุตสาหกรรมด้านการผลิตสุขภาพ การเงิน การศึกษา รวมถึงบริการสาธารณะ ที่บริษัทมีโซลูชั่นที่จะเข้าไปบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนให้ลูกค้าได้
"ตลาดอาเซียนยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วอย่างในเมียนมาที่เพิ่งเข้าไปทำตลาดในปี2556 มีรายได้เติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าใน 3 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาซึ่งเริ่มทำตลาดในปีที่แล้ว คาดว่ารายได้จะโตขึ้น 4 เท่าใน 4 ปี ส่วนในไทยจะเข้าไปโฟกัสในกลุ่มโซลูชั่นและบริการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากมีโรงงานเป็นจำนวนมาก และอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ ที่ไทยมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และล้วนเติบโตอย่างน่าสนใจ ส่วนในสิงคโปร์จะเน้นที่อุตสาหกรรมภาคการเงิน"
มุ่งวิจัยพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ
ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องล่าสุดปีนี้ใช้งบฯ 163,000 ล้านเยน (ราว 49,797 ล้านบาท) เพื่อให้มีโซลูชั่นและบริการใหม่ ๆ ที่จะมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า
"มาซาฮิโกะ ฟูจิ" Marking Technology Laboratory/Research & Development Group บริษัทเดียวกัน ระบุถึงงานวิจัยชิ้นสำคัญในขณะนี้ คือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เรียกว่า FAV (Fabricatable Voxel) ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ผลิตวัตถุที่มีโครงสร้างภายในที่ซับซ้อนทั้งแง่โครงสร้างและสีของวัตถุที่มีความละเอียดสูงได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีความแข็งแรงรองรับการเติบโตของตลาดการพิมพ์ 3 มิติ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 716,882 ล้านบาท) ในอีก 4 ปีข้างหน้า
และยังมีโครงการวิจัย "TelePresence" ที่จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเอกสารสำหรับการประชุมทางไกลทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการติดตั้งเครื่องจับภาพเอกสารทั้งหมดบนโต๊ะแล้วส่งผ่านไปแสดงผลด้วยความละเอียดสูงให้อีกฝั่งได้อย่างเรียลไทม์ทั้งมีฟังก์ชั่นที่แปลภาษาบนเอกสารที่ใช้เวลาประมวลผลเพียงนาทีเดียวเพื่อให้ง่ายในการสื่อสาร
ส่วนผลงานที่ได้เริ่มนำมาทำตลาดแล้วได้แก่แอปพลิเคชั่น "SkyDesk MediaTrek" นำบริการคลาวด์มาใช้เชื่อมกับเทคโนโลยี GPS บนสมาร์ทโฟน ที่จะระบุพิกัดที่อยู่และระบบจะเปล่งเสียงให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ที่กำลังเดินผ่านได้ทันที ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวในหลายเมืองของญี่ปุ่นแล้ว และกำลังจะนำไปใช้ที่สิงคโปร์ โดยโมเดลธุรกิจจะเน้นเจาะองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของตนเอง หรือทำแคมเปญการตลาดพิเศษที่จะเจาะตรงไปถึงผู้ใช้งาน โดยส่วนมากจะเปิดให้ลูกค้าของตนเองใช้งานฟรี เนื่องจากข้อมูลที่บันทึกลงไปในระบบของ SkyDesk สามารถเพิ่มในส่วนของพื้นที่ไฮไลต์หรือโปรโมชั่นพิเศษของบรรดาร้านค้าที่สามารถเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมได้หรือกรณีของสิงคโปร์จะใช้ดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มากขึ้น
ไอทีคุมเข้มการผลิต-รีไซเคิล
"มาซาฮารุฟุรุคาวา"Corporate Vice President & Executive General Manager of Suzuka Center บริษัทเดียวกัน กล่าวเสริมว่า อีกจุดแข็งของฟูจิ ซีร็อกซ์ คือการใช้เทคโนโลยีมาปฏิรูประบบการทำงาน เช่น ที่ Suzuka Center ได้นำ IOT มาใช้ในโรงงานผลิตที่เรียกว่า "Supply Chain Quality Management (SCQM)" เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ และติดตามข้อมูลชิ้นส่วนต่าง ๆ ตลอดซัพพลายเชน ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างเต็มที่
ทั้งนำมาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลที่ทำให้ทั้งกระบวนการผลิตจะไม่มีชิ้นส่วนเหลือทิ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจะสามารถรีไซเคิลได้100% ตามแนวทางของ Green Technology โดยผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดแล้วจะถูกส่งคืนโรงงานเพื่อแยกชิ้นส่วนทำความสะอาด และประกอบใหม่ตามมาตรฐานของบริษัท ให้เป็นเครื่องที่ระบุว่ามาจากการรีไซเคิล สำหรับเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ สำหรับส่วนที่ไม่สามารถประกอบใหม่ได้จะถูกนำไปแยกโลหะออกเพื่อขายให้กับโรงงานอื่นต่อไป ซึ่งส่วนมากจะเป็นทองแดง และอะลูมิเนียม
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น