วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

ย้อนรอยแชร์ลูกโซ่ จากแชร์แม่ชม้อย สู่ทัวร์ญี่ปุ่น เหยื่อใหม่

ย้อนรอยแชร์ลูกโซ่ จากแชร์แม่ชม้อย สู่ทัวร์ญี่ปุ่น เหยื่อใหม่ มุกเดิม
ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
16 เมษายน 2017

ผู้เสียหายกรณีหลอกซื้อทัวร์ญี่ปุ่นตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิคืนวันที่ 11 เม.ย.กว่า 1,000 คน
ความโลภ ความอยากรวยทางลัด หรือความอยากซื้อของถูกมาก ล้วนอยู่ในใจคนไทยไม่น้อย ทุกยุค ทุกสมัย เป็นจุดอ่อนที่มิจฉาชีพใช้ลูกเล่น หลอกเงินไปได้มหาศาล ด้วยวิธีการดั้งเดิมอย่าง "แชร์ลูกโซ่" ที่ล้วนใช้ได้ผลเสมอมา เพียงแต่ สินค้าเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ตั้งแต่ น้ำมัน เงินตราต่างประเทศ ข้าวสาร ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันหอมระเหย ไปจนถึง ทัวร์ญี่ปุ่น
แชร์ลูกโซ่ คือการระดุมทุนจากประชาชน จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง อ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี บางครั้งก็แฝงมากับธุรกิจขายตรง แต่เน้นหาสมาชิกใหม่ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายรายเก่า จนเมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ไหวก็มักจะหนีหายไป ทิ้งหนี้สินไว้เบื้องหลัง
น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน กรรมการบริหารบริษัทเวลท์เอฟเวอร์ (WealthEver) ถูกตำรวจจับกุม เมื่อเย็นวันที่ 12 เมษายน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน หลังสมาชิกบริษัทขายตรงสินค้าแห่งนี้ ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 1,000 คน เมื่อค่ำวันที่ 11 เม.ย. ภายหลังเดินทางมาที่สนามบินตามที่บริษํทนัดหมายว่าจะพาไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ตามกำหนดการในวันที่ 11-12 เม.ย.
กลุ่มผู้เสียหายเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าทัวร์เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นราวคนละ 10,000-15,000 บาท ในจำนวนผู้เสียหายที่ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีทั้งกลุ่มที่เป็นสมาชิกขายตรงที่ได้รับแจ้งจากแม่ทีมกลุ่มขายตรงที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทัวร์ และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ได้เสียค่าใช้จ่าย 9,730 บาท ผ่านการแนะนำของคนรู้จัก แต่ถูกบอกว่าไม่ใช่ค่าทัวร์ เป็นลักษณะซื้อสินค้า โดยการได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นบัตรกำนัลเสริม ไม่ใช่ค่าเที่ยว ขณะที่บางส่วนไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดการเดินทาง การกระทำดังกล่าว นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรียกว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคและเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่
ตำรวจพบว่า น.ส.พสิษฐ์ เปลี่ยนชื่อนามสกุลมาแล้ว 10 ครั้ง เคยถูกแจ้งความคดีเกี่ยวกับทรัพย์ตั้งแต่ปี 2555-2559 รวม 6 คดี และมีหมายจับ 3 หมายจับ
เรามาย้อนรอย 5 คดีดังแชร์ลูกโซ่ในอดีต

#แชร์ลูกโซ่ยูฟัน
เกิดขึ้นเมื่อปี 2557-2558 บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ถูกสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ยื่นดีเอสไอให้ตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ พฤติการณ์ความผิดเป็นลักษณะชวนให้นำเงินมาลงทุน ตั้งแต่ 17,500 บาท จนถึง 1,750,000 บาท รวมทั้งการลงทุนแบบสมาชิกเน้นซื้อสกุลเงินที่ตั้งขึ้นเอง และเน้นซื้อสินค้าเพื่อพัฒนาตลาดแบบขยายทีม
เจ้าหน้าที่ออกหมายจับ พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นปาน ผู้บริหารยูฟันประจำประเทศไทย แต่ได้หลบหนีออกนอกประเทศ คดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 356 ล้านบาท
ศาลอนุมัติหมายจับเครือข่ายยูฟัน ทั้งหมด 164 คน จับกุมไปแล้ว 94 คน ฟ้องต่อศาลรอบแรก 44 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างยื่นฟ้องต่อศาล ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคดีนี้ 22 คน ตั้งแต่ 12,255-12,267 ปี ยกฟ้องจำเลย 21 คน

#แชร์แม่ชม้อย
นางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานขององค์การเชื้อเพลิง จัดให้มีระดมเงินอ้างว่าไปลงทุนในธุรกิจน้ำมัน กำหนดวิธีการเล่นให้ลงเงินเป็นทุนในการซื้อรถขนน้ำมัน คันละ 1.6 แสนบาท ต่อมามีคนมาลงเงินจำนวนมาก ก็แยกขายเป็นครึ่งคัน หรือ เป็น ล้อ โดยจะได้รับผลตอบแทนทันทีใน 15 วัน ในอัตราเดือนละ 6.5 % หรือปีละ 78 % จึงมีคนสนใจนับหมื่น
แต่แท้จริงแล้ว นางชม้อยนำเงินจากผู้ลงทุนรายหลังมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนรายแรกๆ คล้ายงูกินหาง จนในที่สุดไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ เพราะไม่มีผู้เล่นเพิ่มเติม นำไปสู่การจับกุมข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่รัฐบาลสมัยนั้นออกมาเพื่อจัดการกับขบวนการแชร์ลูกโซ่โดยเฉพาะ มีผู้เสียหายกว่า 16,000 ราย เข้าแจ้งความเอาผิดกับนางชม้อยและพวก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4.5 พันล้านบาท ขณะที่นางชม้อยกับพวกถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี

#แชร์ชาร์เตอร์
แชร์ชาร์เตอร์ของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด ชักชวนให้คนนำเงินไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร ให้ผลตอบแทนถึงเดือนละ 9% สูงกว่าแชร์แม่ชม้อยถึง 2.5 % ทำให้มีคนแห่นำเงินมาลงทุน "ทำธุรกิจ" กับนายเอกยุทธจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นนายทหารกับนักการเมือง
วงแชร์นี้เติบโตสูงสุด เมื่อช่วงต้นปี 2527 แชร์แม่ชม้อยได้หยุดรับเงินชั่วคราว หลังถูกรัฐบาลเพิ่งเล็ง ทำให้มีเงินไหลเข้ามาที่แชร์ชาร์เตอร์จำนวนมาก แต่ก็คล้ายแชร์ลูกโซ่อื่น แรกๆ ก็สามารถจ่ายผลตอบแทนอันงดงามได้ แต่นานไปก็ใกล้ถึงทางตัน ต่อมากลางปี 2528 นายเอกยุทธหลบหนีออกนอกประเทศ หลังมีข่าวว่าจะถูกออกหมายจับคดีฉ้อโกง และกบฏ 9 กันยาทำให้วงแชร์สั่นคลอนอย่างรุนแรง ประกอบกับมีคดีที่นายทหารไปฟ้องร้องนายเอกยุทธจากกรณีเช็คเด้ง ทำให้ลูกแชร์ชาร์เตอร์นับพันคนเข้าร้องเรียนกับกองปราบปราม
เขาเดินทางกลับไทยเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว กลับมาเป็นข่าวคราวอีกครั้งในกลางปี 2547 เมื่อได้เข้าไปที่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับอัมรินทร์ คอมันตร์ และประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เพื่อเจรจาทางการเมืองเพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาถูกคนขับรถสังหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2556

#แชร์เสมาฟ้าคราม
แชร์เสมาฟ้าคราม เป็นการลงทุนกับธุรกิจบ้านจัดสรร ของ พรชัย สิงหเสมานนท์ เริ่มต้นแชร์ไม่นาน ก็มีแมลงเม่าบินเข้ามาเป็นเหยื่อ เป็นวงเงินหลักพันล้านบาท
พรชัย เจ้าของหมู่บ้านเสมาฟ้าคราม โครงการบ้านจัดสรรราคาถูก 700 ยูนิต บนเนื้อที่ 320 ไร่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จัดระดมเงินทุนนอกระบบขึ้น หลังธนาคารระงับการให้สินเชื่อกับโครงการ
เขาออกหุ้นแชร์เสมาฟ้าครามขึ้น โดยจะจ่ายดอกเบี้ยอย่างสูงให้กับผู้ลงทุน ยืนยันว่าจะใช้เงินทุนคืนภายใน 5-6 เดือน ปรากฎว่ามีประชาชนแห่มาลงทุนหลายพันล้าน เพราะมองว่าไม่มีความเสี่ยง
สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ระบุไว้ในเฟซบุ๊กเพจว่า แชร์เสมาฟ้าครามโด่งดังสุดขีดเมื่อปลายปี พ.ศ 2529 จากการ "ลงทุน" 12,000 บาท รอ 2 ปี ได้เงิน 36,000 บาท การได้เงินไม่ใช่ได้ก้อนเดียว...ครั้งเดียว ลงทุนไปแล้วทุกเดือน จะได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,500 บาท จนครบ 24 เดือน คิดเป็นผลกำไร 12.5% ต่อเดือน หรือ 150% ต่อปี เท่ากับว่า จ่ายเงิน 12,000 บาท รอ 2 ปี จะได้กำไรถึง 2 เท่าตัวคือ 24,000 บาท
แต่ต่อมาเพียง 2 ปี แชร์วงนี้ก็ล้มลง เพราะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย โดยธนาคารเข้ามายึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ ส่วนนายพรชัยถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย

#แชร์บลิสเชอร์
ก่อตั้งโดยบริษัท บลิสเชอร์อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจในรูปการจัดสรรวันพักผ่อนให้สมาชิกแบบเฉลี่ยสิทธิปีละ 4 วัน 4 คืน ตามชื่อโรงแรมหรือที่พักที่บริษัทกำหนดไว้ 14 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 20 ปี โดยจะแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท หรือบัตรเงิน เสียค่าสมาชิก 30,000 บาท และ "บัตรทอง" เสียค่าสมาชิก 60,000 บาท
แต่ธุรกิจแท้จริงของบริษัทบลิชเชอร์ ไม่ใช่การรับสมัครสมาชิกธรรมดา แต่เป็นการให้ไปหาสมาชิกเพิ่มให้ครบจำนวน แล้วจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่หาได้ ตั้งแต่ 20-45 เปอร์เซนต์ ซึ่งต่อมามีผู้เข้าร่วมธุรกิจนี้เกือบ 3,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
แต่ที่สุด แชร์วงนี้ก็ล่มสลาย เพราะบลิสเชอร์ไม่มีสถานที่พักของตัวเอง แค่ทำสัญญากับบริษัทหนึ่งให้เป็นผู้จัดหาสถานที่พักให้ และโรงแรมหรือสถานที่พักก็ไม่สามารถรับลูกค้าตามสัญญากับบลิสเชอร์ได้ เป็นเพียงการลดราคาให้เท่านั้น
และในปี 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินให้จำคุกผู้เกี่ยวข้องกับแชร์บลิสเชอร์เป็นเวลา 120,945 ปี ขณะที่จำเลยบางส่วนยังคงหลบหนี
คดีหลอกสมาชิกจ่ายเงินเที่ยวญี่ปุ่น ขยายเครือข่ายไว ผู้เสียหายมาก
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกกับบีบีซีไทยว่า กรณีบริษํทเวลท์เอฟเวอร์ สะท้อนให้เห็นว่ามีเครือข่ายมากพอสมควร และน่าจะมีการหาสมาชิกด้วยเวลาที่ไม่นาน
"ใช้กลุยทธ์เดิม แต่เปลี่ยนในเชิงรูปแบบ จากเดิมให้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์การขาย รถยนต์ ทอง แต่ครั้งนี้เป็นรูปแบบใหม่ที่พาไปเที่ยวต่างประเทศ"
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่าทั้งคนรวย คนจน ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น แชร์ลูกโซ่ยูฟัน ผู้เสียหายเป็นคนมีรายได้สูง รูปแบบที่ถูกหลอกจะเป็นธุรกิจทางการเงิน
ส่วนผู้เสียหายในกลุ่มที่ระดับรองลงมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยได้รับร้องเรียนเรื่อง แชร์ฌาปนกิจ ผ่านการระดมทุนหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ใช้วิธีให้คนสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ จ่ายเงินไม่กี่พันบาท เมื่อเสียชีวิตจะได้เงิน 1 ล้านบาท ปรากฏว่า เมื่อมีคนเสียชีวิต แต่ไม่ได้เงินจริง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากนิตยสารฟอร์บสไทยแลนด์
แชร์ข่าวนี้ เกี่ยวกับการแชร์

ไม่มีความคิดเห็น: