วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

อัญมณี

เรื่องน่ารู้ของ “อัญมณี”

อัญมณี คือ มวลของแข็งที่ประกอบไปด้วยแร่ชนิดเดียวกัน หรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์มักนิยมตกแต่งเครื่องประดับและสิ่งของของตนด้วยวัสดุที่เป็นประกาย
      มนุษย์ มักนิยมตกแต่งเครื่องประดับและสิ่งของของตนด้วยวัสดุที่เป็นประกาย และมีสีสันสดใส เพื่อดึงดูดความสนใจด้วยโลหะวาววับ รวมทั้งแร่อีกหลายชนิด

อัญมณี คือ มวลของแข็งที่ประกอบไปด้วยแร่ชนิดเดียวกัน หรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากองค์ประกอบของเปลือกโลกส่วนใหญ่เป็นสารประกอบซิลิกอนไดออกไซด์ ดังนั้นเปลือกโลกส่วนใหญ่มักเป็นแร่ตระกูลซิลิเกต (silicon) นอกจากนั้นยังมีแร่ตระกูลคาร์บอเนต เนื่องจากบรรยากาศโลกในอดีตส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำฝนได้ละลายคาร์บอนไดออกไซด์บนบรรยากาศลงมาสะสมบนพื้นดินและมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตอาศัยคาร์บอนสร้างธาตุอาหารและร่างกาย แพลงตอนบางชนิดอาศัยซิลิกาสร้างเปลือก เมื่อตายลงทับถมกันเป็นตะกอน หินส่วนใหญ่บนเปลือกโลกจึงประกอบด้วยแร่ต่างๆ

เมื่อแร่ตกผลึกจะมีรูปร่างต่างๆ กันและมักจะมีเหลี่ยมมุมที่แหลมคม ทำให้ผลึกมีลักษณะแวววาวเมื่อขยับเขยื้อนไปมา ทั้งนี้เป็นเพราะแสงสะท้อนจากเหลี่ยมมุมต่างๆ แร่บางชนิดก็โปร่งใส ดังนั้น เมื่อแสงผ่านเข้าไปในเนื้อแร่จะทำให้แสงเกิดการหักเห และทะลุออกอีกด้านหนึ่ง ทำให้ผลึกแลดูสวยงาม

แร่ (หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีเนื้อเดียวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในรูปของ ผลึกมีองค์ประกอบทางเคมีหรือโครงสร้างแน่นอน แร่ส่วนใหญ่เกิดรวมตัวอยู่กับหิน จึงเรียกว่า แร่ ประกอบหิน) อัญมณีที่สวยงามหลายชนิด เมื่อนำมาเจียระไนแล้วขัดให้มันก็จะมีความสวยงามนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ ได้ แซปไฟร์ มรกต (มรกต เป็นแร่รัตนชาติหรืออัญมณี ที่มีสีเขียว โดยเกิดจากการผสมกันระหว่างโครเมี่ยมกับแบเริล เป็นแร่เบริลที่มีสีเขียว) ทับทิม บุษราคัม และพลอยสีดอกตะแบก เป็นอัญมณีที่รู้จักกันมานานนับพันปี

แซปไฟร์ เป็นแร่คอรันดัมที่มีสีต่างๆ กันที่ไม่ใช่สีแดง มีได้ทั้งสีน้ำเงิน เหลือง ส้มม่วงหรือเขียวสีน้ำเงิน (Blue Sapphire) เรียกว่า ไพลิน สีเหลือง (Yellow Sapphire) เรียกว่าบุษราคัม หรือพลอยน้ำบุษร์ ถ้ามีสีเขียวปนเรียกบุษร์น้ำแดง มีสีเหลืองทองเรียก บุษร์น้ำทอง สีเขียว (Green Sapphire) เรียกว่า เขียวส่อง(น้ำหน้ามีสีน้ำเงินและน้ำข้างมีสีเขียว) เขียวมรกต (เขียวสดสีขวดน้ำอัดลมชนิดหนึ่ง) เขียวบุษร์ (เขียวอมเหลือง) สาแหรก (มีรูปดาว 4-6 แฉก) สำหรับไพลิน สีที่ถือกันว่าสวยที่สุด คือ สีน้ำเงินเข้มสดมีสีม่วงปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นสีของไพลินคุณภาพสูงจากแคชเมียร์ในอินเดีย

  ทับทิม เป็นอัญมณีที่มีค่าและราคาแพงมากที่สุดในบรรดาแร่คอรันดัมทั้งหมด สีแดงที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ สีแดงเข้มบริสุทธิ์ มีสีน้ำเงินปนเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า สีเลือดนกพิราบ ซึ่งเป็นสีของทับทิมคุณภาพสูงที่มีในประเทศพม่า และทั่วโลกยอมรับกันว่าสวยที่สุด

ความแตกต่างระหว่างแร่อัญมณีและแร่กึ่งอัญมณีอยู่ที่ความแข็งแรง อัญมณีมีความแข็งแกร่งไม่แตกหักง่าย และทนทานต่อกระบวนการผุสลายตัว ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นกับหินทุกชนิด และสึกกร่อนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ส่วนแร่อัญมณีจะยังคงสภาพอยู่ได้ แต่ในที่สุดก็จะค่อยๆ ถูกชะล้างไหลลงสู่แม่น้ำลำธารและไปรวมตัวกันอยู่ในบริเวณลานแร่

การค้นหาอัญมณี มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก และมีเฉพาะบางพื้นที่ของพื้นโลกเท่านั้น เช่น ทับทิมมีมากในประเทศพม่า ศรีลังกาและไทย ส่วนมรกตจะพบมากในแถบทวีบอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ และในสหภาพโซเวียต ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่การค้นหาแหล่งอัญมณีในขั้นแรก เมื่อพบแหล่งแร่อัญมณีอันมีค่าแล้ว ก็จะทำเหมืองแร่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของอัญมณี อัญมณี คือ ผลึกของวัตถุธรรมดาทั่วไป มีสีต่างๆ ซึ่งเกิดจากมวลของสารอื่นๆ ที่มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมากมาผสมกับสารเคมีดั้งเดิมของผลึกนั้นๆ อัญมณีที่รู้จักกันทั่วไปหลายชนิดเป็นสารจำพวกอลูมิเนียมออกไซด์ ซึ่งเป็นผงสีขาวและมีจุดหลอมเหลวสูงมาก ถ้าอลูมิเนียมออกไซด์เย็นตัวลงอย่างช้าๆ จะเกิดเป็นผลึกแซปไฟร์และทับทิมขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงสวยงามมาด แซปไฟร์มีส่วนประกอบของเหล็กและไทเทเนียมในปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้มีสีน้ำเงินสด ส่วนทับทิมนั้นจะมีสีแดง เพราะมีโครเมียม (Chromium) เป็นส่วนประกอบ ส่วนอลูมิเนียมออกไซด์ซึ่งเป็นผลึกที่ไร้สี ไม่ค่อยจะมีค่าสูงนัก เพราะมีอยู่โดยทั่วไป จึงนิยมนำไปทำกระดาษกากกระรุนหรือหรือกระดาษเอเมอรี (เอเมอรี คือ รูปแบบหนึ่งของแร่คอรันดัม ซึ่งมีทั้งชนิดไม่มีสี และชนิดมีสีเข้ม แร่คอรันดัมที่มีสี เช่น ทับทิม และแซปไฟร์) ซึ่งคล้ายกระดาษทรายใช้สำหรับขัดผิวโลหะ หรือขัดให้สนิมออก

แร่ คอลันดัม คือ (Corundum) (Al2O3) เป็นแร่รัตนชาติ ประเภทอะลูมิเนียมออกไซด์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วย ธาตุอะลูมิเนียมและออกซิเจน

ส่วนพลอย มีค่าความแข็งน้อยกว่าอัญมณี คือ ควอตซ์หรือแร่เขี้ยวหนุมาน ซิลิคอนไดออกไซด์ แร่กลุ่มกึ่งอัญมณีหรือพลอย ได้แก่ แอเมทิสต์หรือพลอยสีดอกตะแบก ตาเสือหรือคดไม้สัก อะเกตหรือโมรา และมูนสโตนหรือมุกดา แม้แต่เหล็กหรือ กำมะถันก็เป็นสารประกอบทำให้เกิดรูปผลึกสีสวยงามได้ รูปผลึกแบบหนึ่งของเหล็กซัลไฟด์เรียกว่า แร่ไพไรต์ ซึ่งเป็นสินแร่ของแร่เหล็ก มีลักษณะสีและความมันวาวเหมือนทองมาก ผลึกอีกรูปแบบหนึ่งของเหล็กซัลไฟด์ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกันก็คือ แร่มาร์คาไซต์

มนุษย์ได้นำอัญมณีมาเป็นเครื่องประดับเสมอมาหรือบางทีก็ใช้แทนเงินตรา อัญมณีที่มีคุณค่าต่ำมักนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการเจาะ ตัด และขัด และได้มีการสังเคราะห์เพชรและทับทิมขนาดเล็กขึ้นในห้องทดลอง ถึงแม้จะมีคุณภาพไม่ดีนักแต่ก็มีความแข็งมากซึ่งเราเรียกว่า พลอยอุตสาหกรรม (ไม่จัดอยู่ในประเภทอัญมณี)

ที่น่าสนใจก็คือ การใช้อัญมณีผลิตแสงเลเซอร์ คำว่า เลเซอร์ (laser) ย่อมาจาก Light Amplification by stimulated Emission of Radiation โดยการนำทับทิมไปใช้ผลิตลำแสงที่มีความเข้มสูงในอัตราเดียวกันกับความยาว คลื่น ลำแสงชนิดนี้สามารถพุ่งตรงไปยังจุดใดจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำ เพราะการกระจายของลำแสงมีน้อยมาก ได้มีการนำลำแสงเลเซอร์พลังงานสูงชนิดนี้ไปใช้ตัดหลอมและทำการผ่าตัด เพราะมีความยาวของช่วงคลื่นที่แน่นอน ที่สามารถวัดระยะต่างๆ ได้ด้วยความแม่นยำยิ่งกว่าวิธีวัดใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: