วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่า การพูดถึงเพื่อนร่วมงานในแง่ดีจะทำให้รู้สึกว่าถูกยอมรับและมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น


เราทุกคนอาจจะเคยชินอยู่กับการซุบซิบนินทาเพื่อนร่วมงานบ่อยจนบางทีเราก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว การพูดเรื่อง คนอื่นอาจจะเป็นการเริ่มบทสนทนาที่ง่ายและน่าสนใจ  และการชี้ความผิดพลาดของคนอื่นก็ย่อมง่ายกว่าการมองหาข้อเสียของตัวเอง แน่นอนว่า ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็รู้ได้ว่าการกระทำแบบนั้นสามารถ ส่งผลเสียอย่างไร แต่คุณอาจยังไม่รู้ว่าในทางกลับกัน การชื่นชมและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานนั้นก็มีข้อดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ

การวิจัย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่า การพูดถึงเพื่อนร่วมงานในแง่ดีจะทำให้รู้สึกว่าถูกยอมรับและมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานด้วย

และการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมมักจะลดลงเนื่องจากทุกคนล้วนอยากปรับตัวให้เข้ากับทีมได้ โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ จึงทำให้ไม่ค่อยมีการแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูล ทั้งยังไม่กล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ซึ่งปัญหานี้จะแก้ได้อย่างถาวรด้วยการหันมาพูดถึงเพื่อนร่วมงานในแง่ดีๆ ยังไงล่ะ

หากยังไม่แน่ใจว่าต้องเริ่มจากตรงไหนและเริ่มอย่างไร วันนี้เราจึงมี 5 เคล็ดลับง่ายๆ มาแนะนำให้คุณได้ลองนำไปใช้กัน

1. สนับสนุนพวกเขา เมื่อพวกเขาถูกปฏิเสธ

คุณจะสังเกตได้ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของทีม หลายๆ ครั้งที่เพื่อนร่วมงานของคุณกำลังถูกกีดกันการแสดงความคิดเห็น โดนผู้จัดการติเตียนอย่างไม่เป็นธรรม หรือโดนนินทาลับหลังอย่างเสียๆ หายๆ ดังนั้นวิธีแรกที่ช่วยได้ก็คือ คุณควรจะยืนหยัดเพื่อพวกเขา แทนที่จะไปเข้าร่วมวงนินทาอย่างสนุกปาก

2. เล่าเรื่องดีๆ ของเพื่อนร่วมงานให้คนอื่นฟัง

นี่คือการสร้างเครดิตให้กับตัวคุณเองด้วย จงพยายามพูดถึงเพื่อนร่วมงานในทางที่ดี เพราะนั่นคือสิ่งที่มนุษย์ในสังคมควรทำ เมื่อเรื่องราวไปถึงหูผู้ถูกพูดถึง เพื่อนร่วมงานคนนั้นก็จะรู้สึกดีและเป็นมิตรต่อคุณโดยสัญชาตญาณ

3. พูดสร้างความประทับใจแทนเพื่อนร่วมงาน

เราทุกคนทราบดีว่าความประทับใจแรกมีความสำคัญมากเพียงใด เมื่อมีเพื่อนร่วมงานเข้ามาใหม่ คุณควรเล่าเรื่องดีๆ ของเขาให้ที่ทำงานฟังก่อนเขาจะเข้าทำงานเพื่อช่วยสร้างความประทับใจแรกให้หลายคนได้รับรู้

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเพื่อนร่วมงานกำลังจะลาออก จงพูดให้สมาชิกที่เหลือรู้สึกว่าเขาสำคัญแค่ไหน ให้พวกเขาจากไปพร้อมกับความทรงจำดีๆ ที่เกิดขึ้นในทีม หรือถ้าเป็นไปได้ให้ก็อาจจะช่วยชี้ให้เห็นด้วยว่า

ทีมใหม่โชคดีแค่ไหนที่ได้เพื่อนร่วมงานของคุณไปเป็นส่วนหนึ่ง

4. ช่วยให้เพื่อนร่วมงานมีบทบาทที่เหมาะสมในทีม

ทีมจะกลายเป็นทีมจริงๆ ก็ต่อเมื่อทุกคนรับรู้บทบาทของตัวเอง และรู้ว่าจะนำทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จงทำให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจในทักษะความสามารถของเพื่อนร่วมทีมของคุณ และเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ทักษะความสามารถนั้นในการทำงานด้วย

5. ช่วยให้พวกเขาได้รับผลประเมินการทำงานที่ดี

ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่ได้ทำงานกับหัวหน้าหรือไม่ได้อยู่แผนกเดียวกับคุณ ให้ดูว่าพวกเขาถูกประเมินผล การทำงานจากอะไร และคอยหาโอกาสเล่าข้อดีที่ตรงกับเกณฑ์การประเมินของเขาให้หัวหน้าแผนกนั้นฟัง

เพราะงานไม่ได้มีไว้เพื่อผลลัพธ์ดี ๆ ในตอนท้ายเพียงเท่านั้น แต่งานกลับสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นได้อย่างมากมายทีเดียว ดังนั้น จงจำไว้ว่าทุกคำพูดดี ๆ ของคุณล้วนมีความหมายอย่างมากต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน

Source: Inc-asean

ไม่มีความคิดเห็น: