นวัตกรรมจะทำให้เกิด disruption กับทั้งผู้ประกอบการในซัพพลายเชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ไม่น้อยไปกว่าความต้องการของผู้บริโภค การใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสร้างหนทางเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ อีไอซีมองว่านวัตกรรม 2 แนวทางที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ได้แก่ 1) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (product innovation) ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค และ 2) นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (business model) ที่นำเสนอรูปแบบและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
2.1 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (product innovation)
ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ นอกจากจะพลิกโฉมผู้เล่นในตลาดแล้ว ยังกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นอื่นในซัพพลายเชนของทั้งอุตสาหกรรมไปด้วย โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การผลิตทีวีที่เปลี่ยนไปจากการใช้จอ cathode ray tube (CRT) เป็น liquid crytal display (LCD) ซึ่งกินพื้นที่น้อยกว่า ประหยัดไฟกว่า รวมถึงให้ภาพที่คมชัดกว่า นวัตกรรมจอใหม่นี้ทำให้บริษัท Orion-Hanel ผู้ผลิตจอ CRT ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ Orion ของเกาหลีและผู้ผลิตจอสัญชาติสหรัฐฯ Hanel ต้องยื่นล้มละลายไป เพราะปรับตัวไม่ทันเมื่อความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อราคาของจอ LCD ที่ลดลงจนแข่งขันได้กับจอแบบเก่า ส่งผลให้บริษัทต้องหยุดการผลิต ผิดนัดชำระหนี้ค้างจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน และกระทบกับรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วน CRT ไปด้วย อย่างไรก็ดี นวัตกรรมใหม่ยังคงเกิดขึ้นเพื่อแทนที่ผลิตภัณฑ์เก่า เหมือนอย่างเช่น ที่จอ LCD กำลังจะถูกแทนที่ด้วยจอ OLED ในอนาคต ดังนั้น ผู้ผลิตที่ไม่ปรับตัวด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ หรือควบรวมกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถแข่งขันได้และอาจต้องออกจากธุรกิจไป
2.2 นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ขึ้นและกลายเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจแบบดั้งเดิม นวัตกรรมโมเดลธุรกิจอาจหมายถึงการดำเนินธุรกิจแนวใหม่ หรือการนำเทคโนโลยีมาปรับธุรกิจดั้งเดิมให้ทันสมัย สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ต่างไปจากเดิมได้ เช่น Amazon ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเปลี่ยนวิธีการสั่งสินค้าแบบดั้งเดิม เป็นการสั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์ และพัฒนาต่อเนื่องมาจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใครก็สามารถนำสินค้ามาซื้อขายกันเองได้โดยตรง หรือ นวัตกรรมโมเดลธุรกิจของบริษัท Phillips ที่พัฒนาโมเดลทางธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้ในการติดตามสถานะของหลอดไฟที่ติดตั้งไปแล้ว ทำให้สามารถรู้สถานะการทำงานของหลอดไฟและทำให้บริษัทสามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ได้ตลอดเวลา จนเกิดเป็นโมเดลใหม่ที่ขายแสงสว่างแทนการขายหลอดไฟแบบเดิม จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ส่งผลให้เทรนด์ในการทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ประกอบการจึงควรทำความเข้าใจเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้ทัน ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า นวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม และทำให้เกิดผลกระทบต่อซัพพลายเชนในวงกว้างคือ โมเดลธุรกิจแพลตฟอร์ม (platform business) และโมเดลการนำเสนอสินค้าในรูปแบบการบริการ (Product-as-a-Service: PaaS)
Thailand, Supply chain, Innovation, Business, Platform business
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น