วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

แนวโน้มตลาดงานในอาเซียนปี 2560

แนวโน้มตลาดงานในอาเซียนปี 2560
แนวโน้มตลาดงานในอาเซียนปี 2560 พบว่าในหลายประเทศอยู่ในสภาวะซบเซาเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียน อยู่ในช่วงขาลง เป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ทำให้ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ และผู้หางานต่างเห็นว่า ตลาดงานทั้งภูมิภาคในปีนี้ มีแนวโน้มค่อนข้างซบเซา

เมื่อเจาะลึกเฉพาะตลาดไทย “ธนาคารโลก” คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 อยู่ที่ 3.5% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 6.6% ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับการขยายตัวของตลาดแรงงานในไทย โดยผลสำรวจการทำงานของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ประจำเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่าคนไทยว่างงานเพิ่มขึ้น 476,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 85,000 คน

อย่างไรก็ตาม JobsDB ได้ทำวิจัยภาวะการจ้างงานในอาเซียน โดยทำสำรวจทั้งใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ครอบคลุมทั้งฝั่งผู้ประกอบการบริษัท 32 กลุ่มธุรกิจที่ JobsDB ให้บริการ โดยมีจำนวนการสำรวจ 8,000 องค์กร (บริษัทในไทย 500 บริษัท) และฝั่งผู้หางาน จำนวน 3,000 คน (คนไทย 100 คน)

จากผลสำรวจพบว่าเวลานี้ “ผู้ประกอบการในไทย” มองสถานการณ์จ้างงานในปีนี้ขยายตัวดี สวนทางกับการภาพรวมของภูมิภาคอาเซียน แต่ทั้งนี้ “ผู้หางาน” มีทัศนคติเชิงลบต่อการหางาน เป็นผลมาจากการแข่งขันสูงในสายงาน และความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ดี

อาเซียน ตลาดงานซบเซา!

ในภาพรวมจากการสำรวจทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ และผู้หางานมองว่าตลาดงานปีนี้ ซบเซากว่าปีก่อน โดยในฝั่งผู้ประกอบการที่ร่วมทำแบบสำรวจครั้งนี้ มีมากถึง 60% มองว่าซบเซากว่าปี 2559 ขณะที่ 27% มองว่าสถานการณ์เหมือนปีที่แล้ว และอีก 13% เชื่อมั่นว่าดีกว่าปีก่อน

เช่นเดียวกับฝั่งผู้หางานที่ร่วมทำแบบสำรวจครั้งนี้ มี 44% บอกว่าว่าซบเซากว่าปีที่แล้ว ขณะที่ 33% มองว่าเหมือนกับปีที่แล้ว และ 23% เชื่อมั่นว่าดีขึ้นกว่าปีก่อน

สำหรับแนวโน้มการจ้างงานของผู้ประกอบการทั้งภูมิภาค (กราฟิกด้านบน) พบว่าส่วนใหญ่ยังคงสถานะการจ้างงานเดิมไว้ หมายความว่าผู้ประกอบาการจะจ้างพนักงานใหม่ เพื่อทดแทนตำแหน่งงานที่ว่างเท่านั้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 50% ในขณะที่ผู้ประกอบการจะขยายกิจการ และจ้างงานเพิ่ม อยู่ที่ 22% สะท้อนได้ว่ามีหลายธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย และอีก 12% ผู้ประกอบการยังคงการจ้างงานในอัตราเท่ากับปีที่แล้ว ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการจ้างงานน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 8% และมีผู้ประกอบการที่ยังไม่มีนโยบายจ้างพนักงานในช่วงนี้ 7%

อย่างไรก็ตามในขณะที่ภาพรวมตลาดงานทั้งอาเซียนซบเซา แต่กลับพบว่ามี 2 ประเทศที่แตกต่างจากภาพรวมอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ “ฟิลิปปินส์” และ “เวียดนาม” ที่ปีนี้ตลาดงานมีการเติบโตขึ้น เป็นผลมาจากเวลานี้มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามมากขึ้น ทำให้ทิศทางของตลาดงานในเวียดนามขยายตัว

ในขณะที่ฟิลิปปินส์ เนื่องจากปัจจุบันเป็นศูนย์กลางธุรกิจบางอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจ Call Center เนื่องจากคนฟิลิปปินส์มีทักษะภาษาอังกฤษดี และค่าแรงถูก ประกอบกับเป็นประเทศที่ส่งออกคนทำงานไปต่างประเทศ โดยคนฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ ส่งเงินกลับมาที่บ้าน หรือเวลากลับมาบ้าน ทำให้มีเงินกลับเข้ามาในประเทศจำนวนมาก และด้วยค่าเงินต่างประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า จึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศฟิลิปปินส์ให้เติบโต ซึ่งมีผลให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นภายในประเทศ และการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นตามมา

จากกราฟิกข้างต้น แสดงให้เห็นถึง 5 อันดับ “ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม” ในอาเซียนที่โดดเด่นในปี 2017 สำหรับฝั่ง “ผู้ประกอบการ” มองว่า ตลาดงานในธุรกิจการผลิต (ได้คะแนนระดับ 4.99), ธุรกิจสุขภาพ (4.31), ธุรกิจก่อสร้าง (4.01) มีแนวโน้มเติบโตดี (คะแนนเกินระดับ 4 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี)

ส่วน “ผู้หางาน” มองว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (ได้คะแนนระดับ 3.64) , ธุรกิจสุขภาพ (3.61), ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.60), ธุรกิจพลังงาน (3.56) และธุรกิจการผลิต (3.52) มีการเติบโตแย่ลง

ค่าเฉลี่ยคะแนนของ 5 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว ฝั่งผู้ประกอบการ กับฝั่งผู้หางานกลับมีผลแตกต่างกัน โดยในภาพรวม “ผู้ประกอบการ” มองว่าตลาดงานมีแนวโน้มดี ในขณะที่ “ผู้หางาน” กลับมองว่าตลาดงานแย่ลง ทำให้เกิดการไม่สมดุลของทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้น “ผู้ประกอบการ” ต้องเปิดเผยนโยบายการจ้างงานของบริษัทให้มากขึ้น และแสดงความชัดเจนที่ต้องการจ้างงานเพิ่ม เพื่อทำให้ “ผู้หางาน” ได้รับรู้ว่าธุรกิจนั้นๆ ยังมีทิศทางเติบโต ไม่ได้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

คราวนี้มาดู 5 อันดับ “ประเภทงาน” ที่ผู้หางานคาดการณ์การเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า “งานขาย – งานพัฒนาธุรกิจ” เป็นสายงานที่ผู้หางานมองว่ามีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่งานขาย เป็นอาชีพที่เปิดรับทุกสาขาการศึกษาที่ผู้หางานจบมา ยกเว้นแต่งานขายสินค้าเฉพาะทาง ที่ต้องการคนจบเฉพาะทางจริงๆ

ตามมาด้วยงานการเงิน, งานวิศวกรรมโยธา/งานก่อสร้าง, งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานบริการสุขภาพ-การให้บริการด้านการแพทย์และพยาบาล

สำรวจตลาดงานไทย “งานสุขภาพ-ความงาม” มาแรง

ผลสำรวจตลาดงานในไทยในครั้งนี้ พบว่า “ผู้ประกอบการในไทย” มีมุมมองต่อตลาดงานในทิศทางบวก (คะแนนเฉลี่ย 4.30 จากคะแนนเต็ม 7) โดย 39% บอกว่าดีกว่าปีที่ 2559 ส่วน 33% บอกว่าซบเซากว่าปีก่อน ขณะที่ 28% บอกว่าเหมือนปีก่อน

ตรงกันข้ามกับฝั่ง “ผู้หางานไทย” มองว่าตลาดงานในไทยซบเซา (คะแนนเฉลี่ย 3.43 จากคะแนนเต็ม 7) โดยมีมากถึง 50% บอกว่าซบเซากว่าปี 2559 ส่วนอีก 26% บอกว่าเหมือนปีที่แล้ว และ 24% บอกว่าดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่ามุมมองของ “ผู้ประกอบการในไทย” และ “ผู้หางานไทย” มองตลาดงานสวนทางกัน ซึ่งความย้อนแย้งของบริบทดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าแม้ความต้องการแรงงานของนายจ้างในประเทศไทยจะมีทิศทางขยายตัวขึ้น แต่ผู้หางานที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่เชื่อมั่นว่าจะมีตำแหน่งงานรองรับอย่างเพียงพอ

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานมองภาพรวมตลาดงานในเชิงลบ เป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างผู้หางานที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ประกอบกับความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ตรงใจผู้หางาน ขณะเดียวกันฝั่งผู้ประกอบการไม่ได้สื่อสารนโยบายการจ้างงานให้กับคนข้างนอกรับรู้ได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นเพื่อลดช่องว่างความแตกต่างของมุมมองดังกล่าว ผู้ประกอบการควรสื่อสารการเปิดรับพนักงานให้มากขึ้น

และจากกราฟิกข้างต้น จะเห็นว่า 43% ของบริษัทในไทยที่ร่วมสำรวจคาดว่าธุรกิจจะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่ม ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของไทย สูงกว่าเปอร์เซนต์เฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ 39% คาดว่าจะมีการจ้างงานเพื่อทดแทนตำแหน่งงานเดิมที่ว่างลง หรือเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น และ 12% ยังคงจ้างงานในอัตราเท่ากับปีที่แล้ว นอกจากนี้ในส่วนของการไม่จ้างพนักงานเลย พบว่าผลสำรวจบริษัทในไทย ได้ค่าเป็น 0%

นี่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ตลาดงานในไทยสำหรับกลุ่ม White Collar ยังมีการเติบโต!!!

ส่วน 5 อันดับธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ผู้หางานและผู้ประกอบการ คาดการณ์การเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า ฝั่งผู้ประกอบการ มองว่า “ธุรกิจสุขภาพ” และ “ธุรกิจการผลิต” เติบโตดีกว่าปีก่อน โดยทั้งสองกลุ่มธุรกิจได้คะแนนระดับ 7 (จากคะแนนเต็ม 7) รองลงมาคือ ธุรกิจพลังงาน (5.20), ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (4.55), ธุรกิจก่อสร้าง (4.33)

ส่วนฝั่งผู้หางาน มองว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (ได้คะแนนระดับ 3.86) ธุรกิจด้านโทรคมนาคม (3.83) ธุรกิจการผลิต (3.53) ธุรกิจพลังงาน (3.50) และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.42)

ขณะที่ 5 อันดับ “ประเภทงาน” ที่ผู้หางานคาดว่ามีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าปีก่อน อันดับ 1 คือ งานด้านการดูแลสุขภาพ และอนามัย-แพทย์/ผู้วินิจฉัยโรค (ได้คะแนนระดับ 6.00) ตามมาด้วยงานการเงิน/การลงทุน/วาณิชธนกิจ (5.67) ส่วนอันดับ 3 คือ งานด้านการดูแลส่าวนบุคคล/ความงาม/บริการฟิตเนส (4.67) ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากลุ่มธุรกิจและงานที่เกี่ยวกับ “สุขภาพและความงาม” มีการเติบโต เนื่องจากพอคนมีรายได้ดีขึ้น มีเงินเพียงพอ คนเราจะหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

อันดับ 4 คือ งานด้านโลจิสติกส์/ห่วงโซ่อุปทาน/งานขนส่ง (4.25) เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอันดับสุดท้าย งานด้านการผลิต/งานดำเนินการผลิต (4.13)

นอกจากนี้ผลการสำรวจครั้งนี้ยังได้รายงาน 5 อันดับ “ประเภทธุรกิจ” ที่ผู้หางานรู้สึกว่ามีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบด้วย ธุรกิจพลังงาน (ได้คะแนนระดับ 6.20), ธุรกิจการผลิต (5.93), ธุรกิจโทรคมนาคม (5.67), ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (5.45) และธุรกิจก่อสร้าง (5.13)

ส่วน “ประเภทธุรกิจ” ที่ผู้หางานรู้สึกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะหาตำแหน่งงานดีๆ 3 อันดับแรกคือ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (ได้คะแนนระดับ 3.63) ธุรกิจการผลิต (3.53) และธุรกิจโทรคมนาคม (3.50)

การสำรวจครั้งนี้ยังได้สอบถามความคิดเห็น “กลุ่มผู้หางาน” ต่อตลาดงานปีนี้จะมีความท้าทายเพิ่มขึ้นอย่างไร ผลปรากฏว่า 3 อันดับแรกที่ผู้หางานรับรู้ได้ คือ การแข่งขันในสายงานจะมีความเข้มข้นมากขึ้น (ได้คะแนนระดับ 5.50), ตลาดงานจะมีงานที่หลากหลาย และต้องการทักษะที่แตกต่างกันมากขึ้น (4.94) และ ธุรกิจสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จและเติบโตดี (4.13)

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดงานในทุกวันนี้ ต้องการพนักงานที่มีความรู้ทั้งแนวกว้าง และแนวลึกที่เป็นความรู้เฉพาะทาง แม้ตำแหน่งงานนั้นๆ จะเป็นงานเฉพาะทางก็ตาม รวมถึงตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้หางานต้องปรับตัวเอง ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถของตนเองให้มากขึ้น เพื่อที่นายจ้างจะได้เลือกเข้าไปทำงาน

แต่สิ่งที่ผู้หางานรับรู้เป็น 3 อันดับสุดท้าย คือ การค้นหางานที่ดีๆ ทำได้ยาก (3.31), แนวโน้มธุรกิจจะขยายตัวและจ้างงานเพิ่มเป็นไปได้ยาก (3.34) และ การสมัครงานที่ดีๆ ทำได้ยาก (3.47)

ข้อมูลดังกล่าว เป็นสิ่งที่บริษัทต้องกลับมาคิดต่อ เพราะในขณะที่ความต้องการในตลาดงานเพิ่มขึ้น แต่ทำไมผู้หางานกลับรู้สึกว่าตลาดงานซบเซา และการค้นหางานดีๆ สมัครงานดีๆ ทำได้ยาก ซึ่งวันนี้ผู้ประกอบการในไทย ต้องทำความเข้าใจว่าผู้หางานมีโอกาสเลือกบริษัท มากกว่าบริษัทเลือกผู้หางาน ยิ่งกับสายงานเฉพาะทาง และคนที่มีความรู้ความสามารถย่อมมีความได้เปรียบในการเลือกบริษัทได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทไม่ได้โปรโมทองค์กรอย่างเพียงพอ ต่อไปจะทำให้ไม่สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้

นอกจากนี้ในรายงานนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า 52% ของผู้หางาน เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้นหาตำแหน่งงาน ซึ่งความนิยมในการใช้ช่องทางออนไลน์หางานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

ไม่เพียงเท่านี้รายงานยังระบุอีกว่า ผู้หางานใช้เว็บไซต์งานในการติดตามและดูความเคลื่อนไหวตลาดงาน อยู่ที่ 5.53 คะแนน ในขณะที่มีการใช้เว็บไซต์งานสมัครงานใหม่อยู่ที่ 5.47 คะแนน

เมื่อพฤติกรรมผู้หางานเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อดึงดูดผู้หางานคุณภาพ การใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น เลือกใช้เว็บไซต์งานที่มีคุณภาพนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หางานในการค้นหาและเข้าถึงตำแหน่งงานดี ๆ ได้ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานอีกด้วย

นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจ ยังพบว่าการอัปเดตโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ 80% ของผู้หางานได้รับการติดต่อเสนองานและ 74% ได้งานทำภายใน 1 เดือนหลังจากสมัครงาน

“สังคมไทย” เน้นค่านิยมปริญญา-ไม่ศึกษาความต้องการตลาดงาน

ถึงแม้ตลาดงานในกลุ่ม White Collar ในไทยยังมีการเติบโต แต่ยังมีสิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับตลาดงานในไทย และเป็นเหตุผลว่าทำไมยังมีอัตราการว่างงานในกลุ่มคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือแม้แต่คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้วยเช่นกัน นั่นคือ…

คนไทยบางส่วนขาดการวางแผนศึกษาต่อ โดยไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาดแรงงาน และยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการทำงานสายไหน อย่างไร ทำให้เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเลือกเรียนสายทั่วไป หรือสายกว้างๆ ไม่ได้เป็นสาขาเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ได้ปริญญาบัตรมาก่อน ซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญา

ในขณะที่นับวันตลาดงานจะต้องการสายอาชีพเฉพาะทางมากขึ้น เช่น แพทย์, วิศวกร ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการของตลาดงาน กับผู้หางาน

แตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ หรือประเทศในแถบตะวันตก คนที่นั่นไม่ได้มีค่านิยมมุ่งเรียนเพื่อเอาใบปริญญาอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญกับการหาประสบการณ์การทำงาน เช่น ทำงานพาร์ทไทม์ เพื่อเขาได้จะรู้ตัวเองว่าชอบ หรือต้องการทำงานสายไหน เมื่อรู้ความต้องการแล้ว ถึงเลือกเรียนในสายที่ตนเองชอบ หรือสนใจ เป็นที่ต้องการของตลาดงาน และในต่างประเทศนิยมเรียนเป็นคอร์สเฉพาะทางในสาขาที่อยากเรียน อยากรู้ ซึ่งทุกวันนี้ในอเมริกา เปิดคอร์สสาขาเฉพาะทางมากมาย

“สิ่งที่เราเจอมากในคนไทย เข้ามาถามว่าหนูเรียนจบสาขานี้ ทำงานอะไรดี มาถามตอนที่เรียนจบแล้ว แสดงว่าเรียนมา 20 ปี นับตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือสนใจอะไร ประกอบกับพื้นฐานของคนไทยและสังคมไทย สบายๆ ไม่ค่อยมีการแข่งขันสูงมากนัก

เพราะฉะนั้นการปรับมุมมองของคนไทยที่จะมีผลต่อการทำงานในอนาคต ต้องเริ่มจากครอบครัวที่ปลูกฝังบุตรหลานว่าเราควรต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะเลือกเรียนสายใด ขณะเดียวกันโรงเรียน และอาจารย์ฝ่ายแนะแนว มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำแก่นักเรียน ขณะที่คนไทยต้องตื่นตัวมากขึ้น รับรู้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของในประเทศ และต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรด้วย” คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด แสดงทรรศนะ

ผู้ประกอบการต้องสร้างแบรนด์องค์กร – ผู้หางาน ต้องเพิ่มพูนทักษะความรู้

สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้คนที่ใช่เข้ามาเติมเต็มองค์กร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับ 6 เรื่อง ได้แก่

1. สร้างแบรนด์องค์กรให้แข็งแกร่ง โดยนำเสนอวัฒนธรรม และค่านิยมขององค์กร เพื่อดึงดูดผู้หางานที่มีคุณภาพ และเหมาะสมที่สุดมาร่วมงาน

2. ใช้ “สื่อออนไลน์” ให้เป็นประโยชน์ โดยใช้เว็บไซต์บริษัทลงประกาศหาพนักงาน ใช้สื่อ Social Media สร้างความสัมพันธ์กับผู้หางาน รวมถึงใช้เว็บไซต์หางานคุณภาพควบคู่กันด้วย

3. มีโอกาสได้พนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น ท่ามกลางตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง จะมีผู้หางานในสายงานเดียวกันที่มีความสามารถสูงเหมือนกันอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงโอกาสของผู้ประกอบการในการเลือกผู้หางานที่มีความสมมารถ และเหมาะสมที่สุด

4. จัดโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อรักษาพนักงาน นอกจากจะช่วยเพิ่มพูนทักษะ ความสามารถ เพื่อสร้างการเติบโตในสายอาชีพให้กับพนักงานแล้ว ยังเป็นวิธีรักษาพนักงานที่มีคุณค่าต่อบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

5. มีการวางแผนกำลังคนและใช้กระบวนการสรรหาที่ดี เพื่อให้ได้ผู้หางานที่มีความเหมาะสมที่สุด และการวางแผนกำลังคนสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้การบริหารจัดการประกาศงานและการรับใบสมัครมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6. กำหนดแผนการถ่ายทอดความรู้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อรักษา Know-how ให้คงอยู่กับพนักงานในประเทศ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับพนักงานที่จะเติบโตเป็นผู้นำในองค์กรต่อไป

ขณะที่ฝั่ง “คนทำงาน” ด้วยความที่ทุกวันนี้ทักษะความรู้มีการเปลี่ยนแปลง และมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนเปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำตัวให้เป็นน้ำครึ่งแก้ว เพิ่มพูนทักษะทั้งในเชิงกว้าง และเชิงลึก ทั้งในด้านวิชาชีพสายงานตนเอง ด้านภาษา ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้หลากหลาย จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนๆ นั้นไดรับการคัดเลือกเข้าทำงาน และการมีวินัยรักษาคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ จะทำให้สามารถขยับไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต

“World Economic Forum ได้พูดถึงการจ้างงานในปี 2020 ว่าผู้ประกอบการมองหาคนทำงานที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ยาก และซับซ้อนได้ และต้องเป็นคนที่มี Creativity ในการทำงาน เพราะต่อไปการทำงานจะมีปัญหาซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นคนทำงานต้องสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหางานให้บรรลุล่วงไปได้ด้วยดี”

 

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

อัพเดทข่าวสารผ่านทาง LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ

Add friend ที่ ID : @brandbuffet

ไม่มีความคิดเห็น: