วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้นำ

หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า “ผู้นำ”คือคนมีตำแหน่งบริหารในหน่วยงาน   ยิ่งตำแหน่งสูงเท่าไหร่ก็แสดงถึงความเป็นระดับนำสูงเท่านั้น    แต่ที่จริงแล้วการเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง  แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมต่างหาก  คนมีตำแหน่งบางคนเสียอีก  พอได้ตำแหน่งเลยกลับโดนผู้คนส่ายหน้าว่า ไม่มีความเป็นผู้นำเอาเสียเลย  เป็นอย่างนั้นไป

                อย่างไรก็ตาม คนบางคนพอมีตำแหน่งขึ้นมาคนจึงเห็นว่ามีความเป็นผู้นำสูงก็มี อย่างอดีตอธิการบดีท่านหนึ่ง แต่ก่อนผู้คนก็ไม่รู้จักท่านสักเท่าไหร่  จนท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ  ท่านทำงานจัดระเบียบสังคมจนได้รับการยกย่องให้เป็น “มือปราบสายเดี่ยว”  กระแสศรัทธาในตัวท่านขึ้นสูง จนคนที่แต่งตั้งท่านก็ชักจะระแวงว่าแข่งรัศมี “ผู้นำ” กับตัวเองหรือเปล่า

                เพราะฉะนั้นคนที่อยากให้คนยกย่องว่าเป็นผู้นำ จึงต้องสร้างพฤติกรรมให้เป็นที่ยอมรับของคนที่ร่วมงานหรือคนอื่น ๆให้เห็นว่ามีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ

                จากประสบการณ์และการสังเกตการณ์   ผมเห็นว่าสังคมไทยเห็นว่าคนจะเป็นผู้นำนั้นต้องมีคุณลักษณะต่อไปนี้คือ คนดี  คนเก่ง และคนกล้า   จะเด่นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้  ไม่จำเป็นต้องมีครบถ้วนทั้ง ๓ อย่าง   ส่วนจะได้รับการยกย่องด้วยอย่างใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

                อย่างอดีตที่ผ่านมาเมื่อไม่นานเกินลืม  สมัยที่คนเล่นการเมืองส่วนมากถูกเพ่งเล็งว่าไม่สุจริต    เราเกิดได้ “ผู้นำ” เป็นคนดีขึ้นมา  กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่อยู่นานที่สุดคนหนึ่งของประเทศเกือบสิบปี  เป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตอย่างหาคนเทียบเทียมได้ยาก  ท่านใช้ “ความซื่อสัตย์”เป็นหลักในการบริหาร  ตั้งแต่เลือกคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ  กระทรวงสำคัญ ๆ ในสมัยนั้นท่านตั้งคนที่เป็นที่เชื่อถือว่าซื่อสัตย์เข้ารับผิดชอบ

                รัฐมนตรีในคณะของท่าน  บางคนถูกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายไม่ไว้วางใจ  แม้ตอนลงมติจะได้เสียงชนะท่วมท้น  แต่ถ้าท่านไม่ไว้วางใจขึ้นมาละก็  ท่านจะบังคับให้ลาออก  ท่านให้เหตุผลว่า “ในสภาเราชนะ เพราะเสียงเรามากกว่า ไม่ได้หมายความว่าน่าไว้วางใจ”

                เพราะฉะนั้น บางคนที่อยากประสพความสำเร็จเป็น “ผู้นำ”ในสมัยนั้น  ก็อาจจะดูท่านตัวอย่างและพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นคนดีอย่างท่านหรืออาจจะยิ่งกว่าท่าน    เปิดเผยเรื่องส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องเล่าให้ใครฟังก็ได้ เช่น อาบน้ำวันละ ๕ ขัน กินข้าววันละมื้อเดียว  ที่เอามาเล่าก็อาจเป็นเพราะอยากให้เห็นว่าเป็นคนดีมีความประหยัด  ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง  แม้ไม่ถึงขั้นส่งผลให้ท่านก้าวถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

                แต่ท่านก็ประสพความสำเร็จในการเป็นผู้นำมวลชนล้มนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมไม่เป็นคนดี เพราะไม่รักษาคำพูด เคยประกาศว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่กลับรับโดยอ้างว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”   รวมทั้งมีส่วนเป็นแกนนำในการขับไล่ “อัศวินดิจิตอล”  ที่เป็นคนเก่งแต่ถูกระแวงว่าเป็นคนโกงทุจริตคอรับชั่น    เรียกว่าการสร้างภาพเป็นคนดีของท่านได้ส่งผลให้ท่านเป็น “ผู้นำ”คนหนึ่งในเมืองไทยที่ผ่านมา

                เมื่อเรามี “คนดี”เป็นผู้นำนาน ๆ เข้าก็ชักเบื่อ เพราะหลังจากท่านที่เป็นต้นตำหรับนายกรัฐมนตรีคนดีประกาศว่า “ผมพอแล้ว”  เราก็ยังมีโอกาสได้นักการเมืองเรียบง่ายผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนดีเช่นกันมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งถึงสองครั้งสองครา  แม้บ้านเมืองจะดูเรียบร้อย  แต่ดูผู้คนออกจะไม่ค่อยสพอารมณ์เท่าใดนัก   เพราะความดีนั้นไม่มีอะไรหวือหวาหรือเร้าใจ  ถามปัญหาอะไรก็มักได้รับคำตอบว่า “ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน”   

               ที่สำคัญคือความดีเท่านั้นไม่เพียงพอต่อการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนในยุคสมัยของการแข่งขัน   ดังนั้นเมื่อมีนักการเมืองหน้าเหลี่ยม เอ๊ย…..หน้าใหม่ขึ้นมาอาสาเป็น “ผู้นำ”   ประกาศนโยบายใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการบริหาร  ทำให้ผู้คนฮือฮาเทเสียงให้จนได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากจริง ๆ ครั้งแรกในประเทศไทยก็ว่าได้

              เมื่อได้ตำแหน่งแล้วท่านก็เอานโยบายใหม่ ๆ ออกมาสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับประชาชน  มีโครงการประชานิยม เช่น “๓๐ บาทรักษาทุกโรค”  “กองทุนหมู่บ้าน” “บ้านเอื้ออาทร” “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  เล่นเอาฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงกันข้ามวิพากษ์วิจารณ์แทบไม่ทันกันเลยทีเดียว  แม้นโยบายหลายอย่างของท่านถูกชี้ให้เห็นว่าเคยสร้างความวิบัติให้บางประเทศมาแล้ว  แต่มวลชนจำนวนไม่น้อยหรืออาจเรียกได้ว่าจำนวนมากชื่นชมขอมีความสุขในวันนี้ไปก่อน  วันข้างหน้าค่อยว่ากัน

             ท่านได้รับการยกย่องเป็น “ผู้นำยุคดิจิทัล”เป็น”คนเก่ง”ในสายตาประชาชน  มีผลงานออกมาหลายโครงการ  แม้ภายหลังท่านโดนแฉว่า นอกจากทำเพื่อประชาชนแล้วท่านยังทำเพื่อตนเองและพรรคพวกด้วย  พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ได้เป็นคนเสียสละหรอก  แอบอิงผลประโยชน์ด้วย  ก็ยังมีคนพอใจพยายามสร้างสโลแกนว่า “โกงก็ไม่เป็นไร ขอให้เก่งก็แล้วกัน” เพื่อสนับสนุนท่านให้อยู่ในตำแหน่ง 

             อาจสรุปได้ว่า หากเป็น “คนเก่ง” คิดอะไรใหม่ให้ผู้คนได้ตื่นเต้น  มีผลงานเป็นที่พอใจผู้คนละก็  จะได้รับการยอมรับเป็น “ผู้นำ”  แม้ว่าอาจไม่ใข่คนดีในสายตาของคนจำนวนไม่น้อยก็ตาม

            คนอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการยอมรับเป็น “ผู้นำ” ในสังคมไทยคือ “คนกล้า”   คนไหนกล้าทำในสิ่งที่คนอยากให้ทำก็จะได้รับความร่วมมือยกย่องให้เป็นผู้นำ  ทั้ง ๆ ที่บางทีพฤติกรรมในอดีตของคนที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้นำอาจจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำอยู่  แต่ก็ได้รับการสนับสนุนชื่นชม

            อย่างในปี ๒๕๕๗  คงจะไม่มีใครเป็น “ผู้นำ” ที่เด่นดังและประสพความสำเร็จเท่ากับนักการเมืองชื่อด่าง เอ๊ย…ชื่อดังจากภาคใต้  อดีตรัฐมนตรีหลายตำแหน่งและฝ่ายค้านสำคัญของพรรคการเมืองของผู้นำยุคดิจิทัล   ท่านเป็นนักการเมืองประเภทสีเทา ๆ  ทำโครงการหลายอย่างที่ผู้คนแคลงใจในเรื่องผลประโยชน์   แต่พอท่านประกาศขอเป็น “ผู้นำ” ในการล้มรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น  ท่านกลับได้รับการขานรับและสนับสนุนอย่างกว้างขวางจนปฏิบัติภารกิจสำเร็จ  ไม่มีใครกังขาหรือติดใจในคุณสมบัติแบบ “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” ของท่านเลย

           เห็นไหมครับ  หากเรากล้าทำในสิ่งที่คนจำนวนมากอยากให้ทำละก็  เราก็จะเป็นผู้นำของมวลชนที่ต้องการผลักดันเรื่องนั้นทันที  เพราะฉะนั้น ใครเป็น “คนกล้า” โอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำนั้นมีความเป็นไปได้สูง  แต่ต้องกล้าในสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการทำนะ จึงจะเป็นได้  ไม่ใช่ไปกล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้ทำ  ถ้าเป็นแบบนั้นละก็แทนที่จะเป็นผู้นำอาจจะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคนอื่นไปได้  จะกล้าในเรื่องใดก็ต้องตรองให้ดีเหมือนกัน

           ที่เขียนมานี่ก็เพื่อให้ใครที่อยากได้รับการเชิดชูว่าเป็น “ผู้นำ”  ได้เข้าใจว่า  การจะเป็น “ผู้นำ” นั้น  ไม่ใช่อยู่ ๆ แล้วได้เป็นหรือพอมีตำแหน่งแล้วก็เป็นไปตามธรรมชาติ   แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมของเราที่เข้าตาหรือเป็นที่ “ศรัทธา” คนอื่นต่างหาก  ใครที่อยากเป็น “ผู้นำ”  ต้องทำให้คนอื่นเห็นเราเป็น “คนดี” หรือ “คนเก่ง” หรือ “คนกล้า”หรือผสมผเสกันในในคนสามประเภทต่างหากเล่า จึงจะบรรลุเป้าหมาย  ไม่ใช่เรื่องของโหงวเฮ้งนะ จะบอกให้  

 เครดิตรูปภาพ : prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น: