วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมาแรง รับก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2563

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์        “สนธิรัตน์” ชี้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมาแรง รับก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2563 แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน มอบการบ้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งสร้างบุคลากรคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาด
       
       นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้ โดยคาดว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุราว 14 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรป (ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย : นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก) รวมถึงประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น
       
       การเทรนด์ดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงดูดผู้สูงอายุจากกลุ่มประเทศดังกล่าวให้เดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย รวมทั้ง กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมและมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น คนไทยมีหัวใจรักบริการ ความสะดวกสบายในการรับบริการ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการมีความเหมาะสม มีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่หลากหลายสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ฯลฯ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกด้าน
       
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบัน คือ การดูแลผู้สูงอายุเป็นงานบริการที่ต้องใช้ความอดทน ความเข้าใจ ต้องมีความรู้ด้านการพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งสูตรระยะสั้น (70 ชั่วโมง) - ระยะยาว (420 ชั่วโมง) ที่จัดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ งานดูแลผู้สูงอายุมีลักษณะงานที่ซ้ำเดิม ดังนั้น เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็ต้องการเปลี่ยนงาน ทำให้บุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ไม่ทันตามความต้องการของตลาด ที่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น
       
       อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานบริการดูแลผู้สูงอายุบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร การดำเนินงานยังคงพบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอ ฯลฯ หรือในกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิต ณ สถานประกอบการ ควรต้องดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุที่จะให้คำตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว
       
       นายสนธิรัตน์เผยด้วยว่า จากประเด็นดังกล่าวได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยให้เน้นการพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพ การเพิ่มพูนทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐานมีความเป็นมืออาชีพและการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วย 1) การสร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ 2) พัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐาน 3) สร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล
       
       ทั้งนี้ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งได้ออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 1) ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเดย์แคร์ (Day Care) การบริการแบบเช้าไป-เย็นกลับ 2) ธุรกิจสถานบริการดูแลระยะยาว (Long Stay) โดยจะครอบคลุมการพักค้างคืน บริการอาหาร ทำความสะอาดเสื้อผ้าและร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้น เช่น - บ้านพักคนชรา - สถานที่ให้การช่วยเหลือในการดำรงชีวิต - สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล - สถานบริบาล - สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 3) ที่อยู่อาศัยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นการบริการผู้สูงอายุหรือผู้ที่เตรียมเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เป็นการเช่าซื้อบ้านหรือห้องพักในระยะยาว โดยมากเป็นระยะเวลา 30 ปี หรืออยู่อาศัยจนสิ้นอายุขัย แต่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในบ้านนั้นเมื่อเสียชีวิต 4) บริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน 5) สถานสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุที่ยากจนไร้ญาติ ธุรกิจประเภทนี้ให้การสงเคราะห์ในเรื่องที่พักอาศัย และมีอาหารบริการ 3 มื้อ และ 6) สถานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้บริการตรวจสุขภาพและคำแนะนำในการส่งเสริมดูแลสุขภาพ
       
       ทั้งนี้ นับถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560) มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคล จำนวน 169 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.12 และบุคคลธรรมดา จำนวน 631 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.88

ไม่มีความคิดเห็น: