วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ผู้นำยุค นวัตกรรม4.0

เราได้เดินทางกันมาถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 กันแล้ว จากการพูดคุยกับ CEO บริษัทชื่อดังต่าง ๆ พวกเขาได้พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าพวกเขามีความตระหนักถึงเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในด้านการตลาดและการจ้างพนักงาน พวกเขาจึงเริ่มมองหาหาทางที่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและวิธีการที่สามารถนำมาใช้แทนการจ้างพนักงานเพิ่ม

1. รู้จักเลือกผู้นำ

ข้อมูลจาก Ashish Goel CEO & Co-Founder ของบริษัท Urban Ladder ในองค์กรหนึ่งควรจะมีคนที่มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาและปลูกฝังการแก้ไขปัญหานั้น ๆให้เป็นค่านิยมหลักในองค์กร ซึ่งทางบริษัท Urban Ladder ต้องการที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยการสร้างปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ ที่สามารถนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับบริษัทได้ “เรามองหานวัตกรรมจากทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากตัวสินค้า การออกแบบ การขนส่ง หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรและปรับปรุงระบบการทำงานต่าง ๆ  ซึ่งนวัตกรรมเหล่านั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถผลักดันทีมของเราให้กลายเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต” Ashish Goel กล่าว ถ้าหากเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงได้มีโอกาสทำงานหรือคลุกคลีกับคนในทีม เป็นสถานการณ์ที่ผลักดันให้เกิดการช่วยเหลือกันและกันอยู่ตลอด ซึ่งอาจนำมาสู่การแก้ไขปัญหาแนวใหม่ได้ในอนาคต

2. สร้างความท้าทายขึ้นอยู่เสมอ

Johan Hedin ผู้อำนวยการด้านการบริหารของ Marketing Ignite เชื่อกับคำพูดที่ว่า “อย่ากลัวที่จะถาม” ซึ่ง Hedin ให้เหตุผลว่า “เพราะว่าอุตสาหกรรมการตลาดดิจิตอลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เรามักจะให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การทดลอง กลยุทธ์ อยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน และนี่คือหลักสำคัญในการเติบโตของบริษัทของเราตั้งแต่ปี 1999 การตั้งคำถามหรือสร้างความท้าทายกับทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาในอนาคต นอกจากนั้นการให้บริการที่นอกเหนือในสัญญาระหว่างลูกค้าหรือการให้บริการอย่างมีคุณภาพนั้น ก็ทำให้เรากลายเป็นผู้ทำธุรกิจที่มีแผนกลยุทธ์การตลาดที่ดีที่สุดนั่นเอง”

3. สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ระยะยาว

Nirav Dave เจ้าของบริษัท ProDesigns เชื่อว่าการรวมพลังทีมพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางด้านทรัพยากรบุคคล เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดว่าการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กรเช่น การส่งเสริมให้พนักงานและบุคลากรให้มีโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนออกมาได้มากที่สุด ผมต้องการทำให้แน่ใจว่าพนักงานของผมนั้นมาทำงานทุกวันและบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้นทุก ๆ วัน เราทุกคนคือส่วนหนึ่งของการเติบโตและกลยุทธ์ต่าง ๆ ของบริษัท เรามักจะให้รางวัลกับทุกคนที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญอยู่เสมอ นอกจากนี้เรายังรับฟังความคิดเห็นจากพวกเขาเพื่อสร้างมุมมองที่ครอบคลุมและดีขึ้นนั่นเอง”

4. รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายตรงข้าม

Oliver Isaacs เจ้าของบริษัท Amirite นั้นไม่กลัวที่จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายตรงข้าม เพราะเขาคิดว่านี่คือวิธีการที่สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานขององค์กรและบุคลากรของเขาได้ “ผมเชื่อว่าการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ  หรือการคิดนอกกรอบนั้นมีปัจจัยมาจากการรับฟังสิ่งที่เราอาจไม่เห็นด้วยนั่นเอง การที่จะต้องยอมรับมุมมองตรงกันข้ามกับเราอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ  แต่ก็เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเช่นเดียวกัน เพราะเราจะคิดในมุมมองของเราเพียงเท่านั้น ซึ่งนั่นมันไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจ การเลือกเปิดใจกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยคือสิ่งสำคัญที่สามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้”

5. การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ

ท้ายสุด เราจะมาพูดถึงความสำคัญของการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรค่าแก่การใช้เวลาไปกับส่วนนี้ที่สุด เพราะการสื่อสารที่ดีนั้นนอกจากจะนำมาซึ่งความเข้าใจ ความเห็นพ้อง แลกเปลี่ยนความรู้ ยังช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย Trevor James Gormley เจ้าของ The Millenial View กล่าวว่า “บางครั้งปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในโลกอาจเกิดขึ้นมาจากการสื่อสารที่ไม่ดี ยิ่งในโลกปัจจุบันที่คนปกติมีความสามารถในการสื่อสารกันมากและกว้างยิ่งขึ้น เราจึงต้องพัฒนาแนวทางการสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างผู้บริหาร พนักงาน หรือแม้กระทั่งกับผู้บริโภคเอง”

Alex Silensky CEO ของบริษัท OGScapital Business Plans กล่าวว่า “เราชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการสื่อสารที่ไม่ดี และในโลกปัจจุบันนี้มีอุปสรรคต่าง ๆ มากมายในรูปแบบของสื่อดิจิตอลที่สร้างขึ้นมาเพื่อปิดบังความจริง ฉะนั้นเราจึงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้การสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้จริงและมีคุณภาพ ซึ่งเริ่มจากบุคลากรและพนักงานของบริษัทเราก่อน จากนั้นจึงแพร่ขยายไปสู่ผู้บริโภคและอื่น ๆ ต่อไป”

ที่มา inc-asean.com

ไม่มีความคิดเห็น: