ย้อนประวัติศาสตร์ !!! ก่อน "บิ๊กตู่" ยึดอำนาจ "สมศักดิ์" กล่อม "ตู่-จตุพร" เสียงอ่อนแล้ว แต่ "ธิดา-นกแสก" ขวาง
Publish 2017-05-22 09:36:57
ผู้สื่อข่าว “ทีนิวส์” สำรวจข้อมูลย้อนอดีตประวัติศาสตร์ ช่วงนี้ได้จากหนังสือ “เราจะชนะในที่สุด” ของ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ว่า
“การประกาศวันเผด็จศึกยืดคืนอำนาจอธิปไตยในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของมวลมหาประชาชน ถูกคั้นกลางด้วยเหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึกและตามมาด้วยการยึดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกย้อนไปเมื่อตอนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตอนนั้น สรส.ประกาศนัดหยุดงานกดดันรัฐบาลในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ แต่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็มาชิงทำเสียก่อน มาคราวนี้ เรานัดหยุดงานวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาก่อนอีกเหมือนกัน
วินาทียึดอำนาจเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นที่เปิดเผยไปพอสมควรแล้ว ในฐานะที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ ผมจะเล่าในส่วนที่เป็นประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นภาพจิ๊กซอของประวัติศาสตร์หน้านี้
ผมควรจะเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ วันนั้นได้รับโทรศัพท์จากน้องนายทหารท่านหนึ่ง(ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อ) ซึ่งรับผิดชอบอยู่ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และมีความสนิทสนมกันดีประสานมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เชิญ แกนนำ กปปส. เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกทางการเมือง ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี เวลา ๑๓.๓๐ น.ขอให้ผมบอกกำนันด้วย
ผมโทรศัพท์บอกกำนัน (เวลาคุยกัน ผมเรียกน้องสุเทพ เพราะเขาเรียกผมว่า พี่มาตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) ว่า ทางพล.อ.ประยุทธ์นัดบ่ายโมงครึ่ง กำนันไม่ปฏิเสธแต่ถามกลับมาว่า มีหนังสือเชิญเป็นหลักฐานหรือเปล่า อันนี้ผมถือเป็นความละเอียดของกำนัน ก็เลยโทรกลับไปหาน้องนายทหารที่ประสานมาว่า กำนันต้องการให้มีหลักฐานหนังสือเชิญด้วย น้องทหารบอกกลับมาว่า ไม่มีหนังสือเชิญเป็นทางการ แต่กลุ่มอื่นที่จะมาประชุมด้วยตกลงกันหมดแล้ว ไม่เห็นเขาขอหนังสือ
“ถ้าไม่มีหลักฐาน กำนันก็คงไม่ไป” ผมตอบกลับ
“ไม่ทันแล้วพี่” น้องนายทหารบอก เสร็จแล้วก็เงียบไปไม่ถึงนาทีก่อนพูดสายกลับมา “เอาอย่างนี้..พี่ หนังสือออกไม่ทันแล้วเดี๋ยวทางเราออกประกาศเลยแล้วกัน !”
ผมตอบกลับ “เออ... ก็ดีเหมือนกัน”
ผมเดาเอาว่า น้องนายทหารคนนี้คงนั่งอยู่ในวงวอร์รูมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจสั่งการใน กอ.รส. จึงสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว เพราะไม่เกิน ๕ นาที กอ.รส.ก็ออกประกาศ ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ เรื่อง เรียนเชิญคณะบุคคลเข้าร่วมประชุม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อเหตุการณ์เดินมาแบบนี้ กำนันก็เลยตกลง แล้วก็เลือกตัวแทนของ กปปส.ที่จะร่วมคณะไปด้วยรวม ๕ คน
พอถึงเวลานัด ตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทยอยเดินทางไปที่อาคารสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต คณะของ พล.อ.ประยุทธ์ มาพร้อมกับ ผบ.เหล่าทัพ คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ซึ่งมาแทน ผบ.สส.
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล มี ชัยเกษม นิติสิริ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช พงศ์เทพ เทพกาญจนา วราเทพ รัตนากร ส่วน นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล แจ้งว่าติดภารกิจ
วุฒิสภา มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และ พีระศักดิ์ พอจิต
คณะกรรมการการเลือกตั้ง มี ศุภชัย สมเจริญ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประวิช รัตนเพียร บุญส่ง น้อยโสภณ และภุชงค์ นุตราวงศ์
พรรคเพื่อไทย มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ภูมิธรรม เวชยชัย ชูศักดิ์ ศิรินิล วันมูหะมัดนอร์ มะทา และพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
พรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จุติ ไกรฤกษ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ และชำนิ ศักดิเศรษฐ์
นปช. มี จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ธิดา ถาวรเศรษฐ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และ ก่อแก้ว พิกุลทอง
ส่วน กปปส. มี กำนัน ผม สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ และสมบัติ ธำรงธัญวงศ์
เมื่อเข้าไปถึงห้องประชุม ก็เหมือนที่เคยเป็นข่าวไปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยให้บรรดาแกนนำคณะต่างๆที่เชิญมา พูดเต็มที่ซึ่งทุกฝ่ายก็พูดข้อมูลในส่วนของตัวเอง ทั้ง รัฐบาล วุฒิสมาชิก กกต. เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ นปช.และ กปปส. ใช้เวลาราว ๒ ชั่วโมงเศษ ก็ตกลงหาข้อสรุปกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงพูดขึ้นมาว่า เมื่อต่างคนต่างยืนอย่างนี้ก็ไม่มีทางออก งั้นขอเวลาพัก ๕ นาที แล้วมาประชุมกันต่อ
ตรงนี้ผมมานั่งคิดย้อนหลังว่า จริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะตั้งใจยึดอำนาจในจังหวะนี้เลย เพียงแต่พอท่านบอกพัก ๕ นาทีปุ๊บ ทางจตุพรก็พูดสวนขึ้นมาว่า เวลา ๕ นาทีคงหาทางออกไม่ได้ขอเลื่อนเป็นพรุ่งนี้ดีกว่า ทุกคนจะได้ไปเตรียมการบ้านมา
เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เลยให้โจทย์ ๕ ข้อกลับไปเป็นการบ้านหาคำตอบในแต่ละกลุ่มเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันรุ่งขึ้นโดยนัดกัน เวลา ๑๔.๐๐ น.
สำหรับโจทย์ ๕ ข้อก็คือ
๑.การปฏิรูปจะทำอย่างไร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
๒.รัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลเฉพาะกาล จะได้มาอย่างไร
๓.ควรจะมีการทำประชามติหรือไม่
๔.การสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งควรจะทำอย่างไร
๕.ขอให้ผู้ชุมนุม กปปส. และ นปช. ยุติการชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย สามารถนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้งที่สำเร็จได้
เท่าวิเคราะห์จากประสบการณ์ผมพอจะมองออกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องหาคำตอบให้ได้กับการ Take Action ครั้งนี้ ไม่มีทางที่ ๒ วันคุยกันแล้วไม่ได้อะไรเลย พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีธงอยู่แล้ว ซึ่งผมวิเคราะห์ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ลาออก และ วุฒิสภาไม่ตั้งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจแน่นอน
๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ ทุกฝ่ายกลับมาก็ยังเหมือนเดิม คุยกันได้พักเดียว เวลาตอนนั้นน่าจะประมาณ ๑๔.๔๕ น. กำนันก็ขอเวลา ๓๐ นาที จะขอคุยนอกรอบเฉพาะ กปปส.กับ นปช. พล.อ.ประยุทธ์ เห็นด้วยเลยให้ออกไปคุยกันอีกห้องหนึ่ง ทางอภิสิทธิ์ก็พูดขึ้นมาว่า เมื่อฝ่ายการเมืองไม่เกี่ยวงั้นขอตัวกลับก่อน แต่พล.อ.ประยุทธ์บอกให้รออยู่ก่อน
กปปส. กับ นปช. ปิดห้องคุยกันจนเกือบจะเวลา ๑๕.๓๐ น.ก็ยังตกลงไม่ได้ ประเด็นที่คุยกันก็คือ กปปส. เสนอให้ นปช. มาร่วมมือกันปฏิรูปโดยร่วมมือกับทหารด้วย เพราะถ้าคุณทำงานเพื่อคนจนจริงสถานการณ์แบบนี้น่าจะเข้าใจได้ว่า ทหารก็ต้องมีบทบาทอยู่แล้ว พวกเราได้แสดงความจริงใจกับแกนนำ นปช.ว่า สถานการณ์นี้ แกนนำสามารถจะเป็นตัวของตัวเอง หลุดพ้นจากทักษิณได้
ตู่-จตุพรนั่งเฉยแต่ครุ่นคิดพอสมควร ต้องเรียนว่า ตู่กับผมเคยร่วมสู้กันมาตั้งแต่สมัยพฤษภา’๓๕ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยด่าว่า ผมเสียๆหายๆ จะมีก็แต่ ณัฐวุฒิ หมอเหวง และธิดา เท่านั้นที่ด่าวันละ ๓ เวลาไม่เลิก
ณัฐวุฒิชิงตอบในทำนองว่า คงร่วมไม่ได้ และถ้ามีรัฐประหารก็จะต่อต้าน เพราะข้อเสนออธิบายกับมวลชนไม่ได้อย่างโน่นอย่างนี้ แล้วมีการพูดโยงไปตั้งแต่การชุมนุมพันธมิตรฯว่า ทหารเข้ามายึดอำนาจสุด ท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมก็พยายามบอกณัฐวุฒิไปว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันเห็นไหมสุดท้าย พล.อ.สนธิก็ไปอยู่กับฝ่ายคุณ เวลานี้ต้องพูดเรื่องเฉพาะหน้าก่อน ไม่มีเวลาที่จะไปพูดอะไรที่เก่าค้างคา มันคนละสถานการณ์กันอย่างชัดเจน
ผมสัมผัสได้ว่า ตู่รู้ว่า ผมจริงใจกับเขา และผมก็เข้าใจได้ว่า เรื่องนี้มันต้องอธิบายให้มวลชนเข้าใจ เพราะนี่เป็นจุดยืนที่ต่อต้านรัฐประหารมาตลอดแล้วจู่ๆจะมาทำงานร่วมกับทหารมันก็คงแปลกๆ เพราะฐานมวลชนของเขาถูกจัดตั้งมาตามสายนักการเมือง
“ขอเป็นวันพรุ่งนี้” ตู่พูดขึ้นมา
ผมตอบกลับไปว่า “คงจะไม่ถึงแล้วล่ะ ให้ตัดสินซ่ะ ไม่มีเวลาถึงวันพรุ่งนี้แน่”
ธิดา-นกแสก พูดสวนขึ้นมาว่า ทหารไม่กล้ายึดอำนาจหรอก คราวนี้ก็เลยทำให้บรรดาคนอื่นๆ คึกคักฮึดฮัดกันขึ้นมาอีก จนมีนายทหารเข้ามาตาม “เสร็จหรือยังพี่...เกินเวลาแล้วครับ”
ความจริงทหารเข้ามาตามแล้วรอบนึงเมื่อตอน ๑๕.๓๐ น.แต่เรายังคุยกันจนเลยเวลายาวมาถึง ๑๕.๔๐ เมื่อเห็นว่า ทางนี้คึกคักฮึดกันขึ้นมา ก็เลยบอกไปว่า “เสร็จแล้ว”
พอเดินออกมาจากห้องเท่านั้นแหล่ะ สิ่งผิดปกติที่ผมสังเกตก็คือ ทหารยืนเต็มพรึบไปหมดแล้วก็มีปืนห้อยอยู่เต็มอัตราศึก แอบเดินมาดูชั้นล่างทหารก็ห้อยปืนเต็มไปหมดเหมือนกัน ดูซ้ายดูขวาดูหน้าดูบนปืนจ่อเต็มไปหมดผมก็มั่นใจแล้วว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
พอเข้าไปในห้อง กำนันขอเวลา ๑ นาที ลุกเดินไปคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ และจตุพร คุยเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาแจ้งที่ประชุมว่า“ไม่มีอะไร คุยกันเรื่องห้องน้ำไม่เรียบร้อยเท่านั้น”
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ถามตัวแทนรัฐบาลว่า ยืนยันจะไม่ออกใช่ไหม ชัยเกษม บอกว่า “วินาทีนี้ไม่ลาออก” พล.อ.ประยุทธ์จึงตอบกลับว่า " ถ้าอย่างนั้น ผมขอยึดอำนาจตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป"
สิ้นเสียงพล.อ.ประยุทธ์ ทหารก็กรูมายืนหลังเก้าอี้ที่เรานั่ง ในแถลงการณ์ คสช.บอกว่า ควบคุมอำนาจตั้งแต่เวลา ๑๖.๓๐ น. แต่จริงๆ ตอนพล.อ.ประยุทธ์ประกาศยึด กำนันหันมาถามว่า ขอดูนาฬิกาหน่อย ผมยกข้อมือขึ้นดู เข็มนาฬิกาชี้ที่ ๑๖.๓๒ น.
เรียบเรียงโดย
ชรินทร์ แช่มสาคร : สำนักข่าวทีนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น