วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

9 วิธีรักษา "คนเก่ง" ของ SMEs ในยุคดิจิทัล

9 วิธีรักษา "คนเก่ง" ของ SMEs ในยุคดิจิทัล
โดย MGR Online    
24 มิถุนายน 2560 10:02 น.

9 วิธีรักษา คนเก่ง ของ SMEs ในยุคดิจิทัล

        “พนักงาน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร การมุ่งมั่นที่จะรักษาพนักงานที่ดี ที่มีความรู้ความสามารถจึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกับโลกธุรกิจปัจจุบันที่ “พนักงานที่ดี” เป็นสิ่งที่หายาก ขณะที่พฤติกรรมและความต้องการของพนักงานที่ดีที่มีความรู้ความสามารถเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก SCB SME จึงอยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่ จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับองค์กร เพื่อรองรับ
      
       ชานนท์ เรืองกฤตยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เล่าว่า เพราะคน Gen-Y มีทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการทำงานแตกต่างไปจากเดิม มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบทำอะไรในกรอบ ไม่ชอบงานประจำ เกลียดการถูกบังคับ รักอิสระ เบื่อง่าย สมาธิสั้น และเป็นพวกอยากทำงานน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก ที่ทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่จึงต้องผสมผสาน การทำงาน การเรียนรู้ และการเล่นไว้ด้วยกัน
      
       ต่อไปนี้เป็น 9 วิธีในการรักษาคนเก่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่
      
       1.บรรยากาศในการทำงานที่ผ่อนคลาย
       บรรยากาศที่ดีในการทำงานเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ บรรยากาศการทำงานที่ก่อให้เกิดจากความรักความผูกพัน ความนับถือในสถานที่ทำงาน มีความร่วมมือร่วมใจ มีความจงรักภัคดี มีเป้าหมายร่วมกันที่ความสำเร็จของธุรกิจ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้างาน ผู้จัดการ พนักงานทุกระดับ เป็นบรรยากาศในการทำงานที่ดีที่เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ชี้วัดว่า จะรักษาคนเก่งไว้ในบริษัทได้หรือไม่
      
       2.ผลักดัน Work Life Balance
       ระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การเรียนรู้ และการเล่น เป็นแนวคิดของธุรกิจยุคใหม่ที่วัดคนจากผลของงาน โดยให้อิสระในการทำงานกับพนักงาน ทั้งการทำงาน การเล่น การพักผ่อน หลายบริษัททุ่มเทลงทุนเพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขมากที่สุด ภายใต้ความเชื่อว่าพนักงานที่มีความสุขจะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้กับบริษัท
      
       3.กำหนด Job Description ให้ชัด
       การที่ผู้ประกอบการจะรักษาคนเก่งไว้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่องนั้น จำเป็นจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการรองรับคนรุ่นใหม่ ความชัดเจนเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุด การระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และผลตอบแทนจากความสำเร็จที่ชัดเจน เป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับบริษัทได้ในระยะยาว
      
       4.ให้โอกาสและให้ความท้าทาย
       การมอบโอกาสที่มีความท้าทายสำหรับคนที่มีความสามารถนั้นเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงการยอมรับในความสามารถ และเปิดโอกาสให้ได้พิสูจน์กับงานที่มีความยากมากขึ้น ซึ่งโอกาสและความท้าทายนั้นควรจะสอดคล้องกับความสามารถ และความถนัดของคนนั้น และควรจะมีพี่เลี้ยงสำหรับงานที่ท้าทายนั้นด้วย ดังที่ปราชญ์กล่าวไว้ว่า “สงครามสร้างวีรบุรุษ” โอกาสและการความท้าทายก็สร้าง พนักงานที่แข็งแกร่งเช่นกัน
      
       5.ให้อำนาจในการตัดสินใจ
       ผู้ประกอบการหลายรายที่เปิดโอกาสและความท้าทายให้พนักงานได้พิสูจน์ตัวเอง แต่บ่อยครั้งกลับพลาดพลั้งในเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่น อำนาจและการตัดสินใจ การมอบหมายภาระหน้าที่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องอำนาจในการตัดสินใจไปด้วย การให้งานที่ยากขึ้นแต่ไม่ให้อำนาจในการตัดสินใจก็เปรียบเสมือนการผลักพนักงานคนนั้นลงเหว เพราะโอกาสที่จะทำงานให้สำเร็จมีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
      
       6.ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงาน
       การเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัท รวมถึงเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการทำงาน และการประเมินผลงาน จะทำให้พนักงานเกิดความเชื่อมั่น เชื่อใจและมองเห็นความสำคัญของตัวเองในด้านความสามารถและความเป็นเจ้าของ จะส่งผลเกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงานและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
      
       7.ค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาด
       ผู้ประกอบการควรจะเลือกกำหนดค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าตลาด เพื่อดึงดูดคนเก่งให้อยู่กับบริษัท แม้องค์ประกอบในการทำงานจะเป็นส่วนสำคัญ แต่เป้าหมายอย่างหนึ่งของการทำงานคือผลตอบแทน ผลตอบแทนที่ดีกว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดคนเก่งให้อยู่กับบริษัทได้ ซึ่งผลตอบแทนนั้นต้องมาพร้อมกับตำแหน่งที่สูงขึ้นและความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย
      
       8.การวัดผลงานตามจริง
       การสร้างระบบการประเมินผลงานที่วัดผลงานตามจริง จะช่วยให้พนักงานที่มีความสามารถได้รับการพิจารณาผลงานตามความสามารถที่แท้จริง ผู้ประกอบการจึงต้องมีเครื่องมือและกระบวนการที่พนักงานยอมรับ เชื่อถือได้ และเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าในสายอาชีพด้วย
      
       9.เลือกผู้นำที่ดีและเข้าใจธุรกิจ
       ปัจจุบันผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารบริษัทเพียงคนเดียว การคัดเลือกคนเก่งที่มีความสามารถในการบริหารคนมาเป็นผู้จัดการเพื่อดูแลบริษัทเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ผลจากการวิจัยพบว่า สาเหตุหนึ่งในการลาออกของพนักงานที่ดีที่มีความรู้ความสามารถเกิดเพราะการบริหารคนไม่เก่งของผู้จัดการ และหัวหน้างาน ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องเลือกใช้งานผู้บริหารที่เก่ง เน้นการสื่อสารในทุกระดับ และทำงานร่วมกันเป็นทีม
      
       เมื่อผู้ประกอบการสามารถดึงดูดพนักงานที่ดีที่มีความรู้ความสามารถมาไว้ที่บริษัทได้แล้ว จำเป็นจะต้องมีการจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการรักษาพนักงานเหล่านั้นเอาไว้ 9 วิธีข้างต้นเป็นเพียงแนวทางในการรักษาคนเหล่านั้นเอาไว้ อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด ดังนั้นหัวใจของการรักษาพนักงานที่ดีที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กร ผู้ประกอบการจึงต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าผู้ประกอบการรักพนักงานเหมือนรักคนในครอบครัว เชื่อว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่พนักงานที่ดีที่มีความรู้ความสามารถอยากทำงานด้วยอย่างแน่นอน
      
       อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรมี “คนเก่ง” ก็ต้องพยายามรักษาและบริหารจัดการ “คนเก่ง” ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญ “คนเก่ง” ต้องได้รับการยอมรับว่าเป็น “คนเก่ง” หรือเป็นคนสำคัญขององค์กรอย่างสง่าผ่าเผยและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พนักงานคนอื่น ๆ อีกด้วย และนำความภาคภูมิใจสู่คนที่ต้องการเป็น “คนเก่ง”
      
       บทความโดย: sme.scb.co. th

ไม่มีความคิดเห็น: