วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธุรกิจฉาบฉวย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หอมหวาน

ธุรกิจฉาบฉวย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หอมหวาน และเต็มไปด้วยสีสัน ธุรกิจที่เกิดขึ้น เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างวูบวาบราวกับดอกไม้ไฟ เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการกระโดดเข้าใส่ แต่เชื่อไหมว่าถ้าขาดความรอบคอบ โอกาสนั้นจะเหมือนกับดักที่ล่อแมลงเข้าสู่หายนะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ และการเติบโตของเทคโนโลยี ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป ทั้งสังคม วิถีชีวิตและค่านิยม ความเร่งรีบ เร่งด่วน ข่าวสารจากทั่วโลกที่โหมกระหน่ำ ทุกวินาที บีบให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดรูปแบบของความรีบเร่งที่เรียกว่า “ฉาบฉวย”  ทั้งความคิด การกระทำ และการทำธุรกิจ

“ธุรกิจฉาบฉวย” เป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนาน แต่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งคำว่าธุรกิจฉาบฉวยนั้น ตำราแต่ละแห่งอาจจะเรียกไม่เหมือนกัน แต่มีนิยามคล้าย ๆ กันคือ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญในการทำธุรกิจแบบการทำกำไรระยะสั้น ให้ความสำคัญกับมูลค่าของกิจการ การสร้างผลกำไร โดยไม่ได้สนใจกับการสร้างความแข็งแกร่ง และมั่นคง เพื่อให้ธุรกิจอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่ผ่านมา ธุรกิจฉาบฉวย เป็นธุรกิจที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขนมแบรนด์ดังที่ระยะแรกมีการต่อแถวยาวเพื่อซื้อสินค้า แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งความนิยมก็เสื่อมลงไป หรือตุ๊กตาหน้าตาน่ารักพูดได้ ที่สนนราคาซื้อแสนแพง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งความนิยมก็เสื่อมถอยลง จนบางคนนึกชื่อไม่ออก

แต่ธุรกิจฉาบฉวยจะมีความแตกต่างที่สำคัญนั่นคือ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจที่มีอายุสั้นถึงสั้นมาก  อาจจะเพียง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปีเท่านั้น แต่แม้จะเป็นธุรกิจอายุสั้นแต่ก็มักจะมีข้อเด่นที่มีความต้องการสูงมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจจะทำให้บางธุรกิจร่ำรวยได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลราวกับเสกมานี้ จึงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการสนใจและอยากเข้าสู่ธุรกิจฉาบฉวยนี้

อย่างไรก็ตามธุรกิจฉาบฉวย อาจจะมาพร้อมโอกาสที่ดี แต่ก็มีความอันตรายที่สูงมากด้วย โดยเฉพาะวงจรธุรกิจที่สั้น และไม่แน่นอนว่าจะหมดความนิยมเมื่อไหร่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้ความระมัดระวังในการก้าวสู่ธุรกิจนี้

เป็นการยากที่จะระบุว่า ธุรกิจที่พบเจอในปัจจุบันเป็นธุรกิจฉาบฉวยหรือไม่ เพราะแม้ธุรกิจฉาบฉวยส่วนใหญ่จะมีอายุธุรกิจสั้น และวงจรชีวิตของธุรกิจแทบจะไม่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป นั่นคือ มีอยู่ 4 ระยะ ได้แก่
ระยะการเข้าสู่ธุรกิจ (Introduction)
ระยะการเติบโต (Growth)
ระยะทรงตัว (Maturity)
ระยะถดถอย (Decline)

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นธุรกิจฉาบฉวย
ความที่มีวงจรชีวิตสั้น และไม่ชัดเจน จึงเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจ ดังนั้นการเรียนรู้ลักษณะบางอย่างของธุรกิจประเภทนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ มีปัจจัยบางประการที่ช่วยระบุว่า ธุรกิจที่เห็นนั้นเป็นธุรกิจฉาบฉวยหรือไม่
- เป็นอะไรที่แปลกใหม่ ส่วนใหญ่แล้ว ความฉาบฉวยมักมาควบคู่กับอะไรที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ เชิญชวนให้เกิดการทดลองพิสูจน์
- เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจฉาบฉวยจะอิงกับแนวโน้มหรือกระแสบางอย่างจึงมีลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วตามความนิยมของแนวโน้มกระแสนั้น
- ไม่สอดคล้องกับลักษณะสังคม และพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่  ความแปลกใหม่ดังกล่าวมักจะไม่สอดคล้องกับค่านิยม พฤติกรรม หรือลักษณะโดยทั่วไปของคนส่วนใหญ่ ทำให้เมื่อผ่านไประยะหนึ่งธุรกิจดังกล่าวจึงเสื่อมความนิยมลง
- ไม่ยั่งยืน แน่นอนว่าฉาบฉวยตรงกับข้ามกับคำว่ายั่งยืน ดังนั้นธุรกิจดังกล่าวจึงมีมีสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำว่ายั่งยืน เช่น ความเร่งรีบ ไม่เป็นระบบระเบียบ ขาดความเป็นมาตรฐาน ฯลฯ แต่ลักษณะดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ

เข้าใจธุรกิจฉาบฉวย หนทางสู่การตั้งต้นธุรกิจ

แม้ธุรกิจฉาบฉวยจะมีความเสี่ยง แต่ก็ใช้ทุกโอกาสที่พบเห็นก็เป็นหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ เพียงแต่การก้าวสู่ธุรกิจฉาบฉวยอาจจะต้องใช้ความระมดระวังรอบคอบเป็นพิเศษ รวมถึงต้องคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนว่า โอกาสนี้เหมาะสมกับธุรกิจปัจจุบันหรือไม่ มีข้อคิดบางประการที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเข้าสู่ธุรกิจฉาบฉวยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องใส่ใจ

1.ต้องรู้และเชี่ยวชาญสำหรับโอกาสที่เกิดขึ้น ในช่วงชีวิตการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ มักมีโอกาสเข้ามาอยู่บ่อย ๆ  แต่การจะพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นโอกาสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นอย่างถ่องแท้เพียงพอหรือไม่ ธุรกิจฉาบฉวยแม้จะดูหอมหวานน่าสนใจ แต่ผู้ประกอบการเองต้องมั่นใจว่า มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจนั้นเพียงพอก่อนจะก้าวสู่ธุรกิจ

2.ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ การจะมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นนั้น ข่าวสารที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาว่า โอกาสนั้นเป็นโอกาสที่ดีหรือไม่

3.ถ้าจะเข้าสู้ธุรกิจนั้น โอกาสมีมากน้อยเพียงใด โอกาสจะผันแปรไปตามวงจรของธุรกิจ ช่วงที่ดีที่สุดในการเข้าสู่ธุรกิจคือช่วงเติบโต ถ้าผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจในช่วงนี้ได้ โอกาสประสบความสำเร็จจะมากที่สุด

4.เข้าไวและออกไว แม้จะเข้าสู่ธุรกิจในช่วงที่ดีที่สุดได้แล้ว การทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง ตรวจสอบดีมานด์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างมั่นใจ เมื่อไหร่ที่ดีมานด์ลดลงต่อเนื่อง เกินกว่า 3 เดือนให้พิจารณาเรื่องการออกจากธุรกิจในทันที

5.จำกัดความเสียหาย แม้จะมีช่วงที่ธุรกิจดีและประสบความสำเร็จ แต้ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะเมื่อธุรกิจนั้นเข้าสู่ช่วง Mutuality ความต้องการจะเริ่มลดลงและลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง Decline ดังนั้นผู้ประกอบการต้องกล้าที่จะยอมรับและอ่านสถานการณ์ตลาดอย่างเป็นกลาง และถูกต้องว่าธุรกิจนั้นเข้าสู่ช่วง Decline แล้ว

6.คิดเรื่องการจัดการกับธุรกิจ เมื่อธุรกิจฉาบฉวยเข้าสู่ช่วง Mutuality และส่งสัญญาณด้วยดีมานด์ที่สดลงแล้ว การพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการมีทางเลือก 2 แนวทาง 1.ขายธุรกิจให้กับนักลงทุนอื่น และสร้าง Cycle ใหม่ให้กับธุรกิจ

7.สร้างธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจเดิม ความสำเร็จในครั้งแรก จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดให้ผู้ประกอบต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไปสู่ธุรกิจข้างเคียง ถ้าทางเลือกของผู้ประกอบการคือ การขายธุรกิจทิ้งนั่นเป็นสิ่งที่ง่าย แต่จะยากกกว่ามากถ้าเลือกในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งมีทั้งโอกาสสำเร็จแล้วล้มเหลว ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับ การตอบรับของตลาด และองค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจ

ธุรกิจฉาบฉวย อาจจะเป็นชื่อที่ฟังดูไม่น่าอภิรมย์นัก แต่เชื่อไหมว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจาการทำธุรกิจฉาบฉวย และปัจจุบันผู้ประกอบการเหล่านั้นก็กำลังมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ  ที่เกิดขึ้น และกระโดดเข้าสู่โอกาสนั้น การจะสำเร็จในธุรกิจฉาบฉวยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายออย่างที่คิด

ไม่มีความคิดเห็น: