วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บทที่ 9 ผู้นำเก่งและดีทำยังไง : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

บทที่ 9 ผู้นำเก่งและดีทำยังไง : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

โดย ดร.สมฤดี ศรีจรรยา
“การทำงานในองค์กร ต้องการความเก่งเพียง 2 เรื่องคือ เก่งเรื่องงาน และเก่งเรื่องคน”
สนามฝึกคนเก่ง เริ่มจากที่ทำงาน
                         วันหนึ่งได้ตัดสินใจว่า เป็นตายร้ายดีจะต้องเป็นอาจารย์ไปยืนหน้าชั้นให้ได้ แล้วถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ทำงานมา รวมถึงที่เรียนมาแบบอดตาหลับขับตานอน อ่านหนังสือสอบ ทำวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์ ก็ในเมื่อทำมากับมือ ทำไมเราจะสอนคนอื่นไม่ได้
ทำงานมาตั้งครึ่งชีวิตแล้ว ผ่านประสบการณ์มามาก ได้เห็นมาก ได้พบวิกฤตการณ์มาแล้วก็มาก ถ้าไปสอนคนอื่นได้ ก็จะเท่ากับเป็นการสอนตัวเองไปในตัว ฝึกตัวเองไปในตัว การได้ฝึกการพูดต่อหน้าชุมนุมชน แสดงวาทศิลป์ แสดงความคิดเห็น จะได้เป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ
จึงตัดสินใจว่าเอาพนักงานนี่แหละเป็นนักเรียน อย่างน้อยพอมองเห็นหน้าทุกคนก็ใจชื้น เพราะไม่ใช่คนแปลกหน้าเห็นหน้ากันทุกวัน และก็มีเรื่องที่ต้องพูดกันสอนกันในที่ประชุมอยู่แล้ว
คิดได้ดังนั้นก็สั่งเรียกประชุมพนักงาน ถ้าใครถามว่าประชุมเรื่องอะไรก็บอกว่า ประชุมชี้แจงนโยบายบริษัท แผนการดำเนินงานของบริษัท เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน ทั้งซักถามและแสดงความคิดเห็น

นึกถึงที่เคยศึกษาเรื่อง 7S ของ McKinsey น่าจะลองมาปรับให้เข้ากับชีวิตและการทำงานจริงดูว่าจะไปได้ไหม เพราะผู้นำองค์กรไหนก็ตาม ถ้าได้ปฏิบัติตามผังที่จะเขียนให้เห็นต่อไปนี้ ก็แปลว่าเป็นผู้นำองค์กรที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะเขียน Road Map แผนที่การบริหารงานของบริษัทไว้ล่วงหน้า แล้วปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด
การที่ใครก็ตามได้ก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุด เป็นผู้ตัดสินใจและสั่งการในองค์กรได้ นอกจากจะต้องอาศัยพื้นฐานคุณสมบัติส่วนตัว คือตาถึง ใจถึง มือถึง ทุนถึง แล้วดวง (บุญ) ถึงแล้ว ยังต้องอาศัยทฤษฎีการทำงาน เพื่อกันความผิดพลาด ลดความเสี่ยง เรียกว่าแบบมืออาชีพถึงจะสมบูรณ์สูงสุด

เสริมความเก่งตามตำรา
จะเป็นผู้บริหารยุคนี้จะต้องหาความรู้เพิ่มเติม หาหลักสูตรอบรมการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งเป็นค่านิยมที่บริษัทใหญ่ในเมืองไทยแทบทุกบริษัทจะส่งคนไป
นอกจากนี้ยังต้องอ่านตำราการบริหาร อ่านพ็อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ เป็นผู้จัดการ เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ ซึ่งต้องไปซื้อมา ทำให้นิสัยการขวนขวายเรียนรู้ติดเป็นนิสัย
เมื่อตอนที่ตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท หลังจากที่ได้ทิ้งตำรามนับสิบปีแล้ว ก็ต้องมานั่งเรียนกับนักศึกษารุ่นน้อง รุ่นหลาน ที่อายุห่างกันเป็นสิบปี แรกๆ ก็เขินเหมือนกันที่เป็นนิสิตหญิงที่อาวุโสที่สุดในห้อง เป็นรุ่นพี่ที่มีอะไรเขาก็ยกให้ออกหน้าเวลามีการเสนองาน ได้อาศัยการฝึกเสนองานหน้าชั้นเป็นสนามฝึกอย่างดี

ผังที่ชอบที่สุดที่สอนให้คิดเป็นระบบ คือ 7S ของ McKinsey ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ของบริษัทวิจัยทางการบริหารที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา เจ้าของตำรา In Search of Excellence ที่โด่งดัง ทำเงินหลายพันล้านบาท มีหน้าตาดังนี้

ตัว S เจ็ดตัวคือ

1. Shared  value หรือ เป้าหมาย

2. Strategy หรือ ยุทธศาสตร์

3. Structure หรือ โครงสร้าง

4. System หรือ ระบบ

5. Staff หรือ คน

6. Skill หรือ ความเก่ง

7. Style หรือ วัฒนธรรมองค์กร
เป็นผังทำงานที่สมบูรณ์แบบ เหมาะสำหรับเตือนสติกับนักบริหารที่ให้ทำงาน โดยเดินตามแผนที่การการบริหารนี้ รับรองว่าไม่มีวันหลงทาง

การทำงานจริงเทียบกับทฤษฎี
1. ตั้งเป้าหมาย ก่อนจะเริ่มทำงาน ทุกองค์การทุกบริษัทจะต้องมีการกำหนดนโนบายเป้าหมายให้ชัดแจ้ง และแจ้งให้ทุกคนทราบทั่วกันว่าบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร มีนโยบายอะไร มีปรัชญาการดำเนินงานอย่างไร จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันภายหลังว่าไม่รู้ทิศทางบริษัท หรือรู้คลับคล้ายคลับคลา ให้รู้ว่าบริษัทมีเป้าหมายปีนี้อย่างไร ปีหน้าอย่างไร อนาคตจะไม่ทางไหน
นอกจากนี้ยังเป็นการปรับทัศนคติในการทำงานไปด้วย ว่าผู้บริหารที่นี่มีนิสัยอย่างนี้ อยากเห็นพนักงานเป็นอย่างนี้ คิดว่าจะไปกันไหวไหม จะปรับเข้าหากันได้ไหม

คำภาษาอังกฤษใช้คำว่า Share Value ซึ่งมากกว่าเป้าหมาย นั่นหมายถึงการตั้งทัศนคติและอุดมการณ์ร่วมกัน แสดงถึงว่าความเป็นผู้นำที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนมั่นใจว่า ด้วยการนำของข้าพเจ้านี้ เรามีความมุ่งมั่น มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่จะทำเป้านี้ให้ได้ ทุกคนเห็นด้วยไหม ถ้าใครคิดว่าไม่ไหวก็ต้องพิจารณาตัวเองว่าจะไปกับทีมนี้หรือไม่

2. กำหนดยุทธศาสตร์ ในเมื่อเป้าหมายแจ้งชัดแล้วว่า ปีนี้เราต้องทำตัวเลขเท่าไร ปีหน้าเท่าไร อีก 3 ปีหน้าเท่าไร เราก็ต้องมากำหนดยุทธศาสตร์ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แล้วเขียนเป็นแผนดำเนินงานใหญ่ของบริษัท จากนั้นทุกฝ่ายก็ต้องไปเขียนแผนดำเนินงานย่อยของแต่ละฝ่ายของแต่ละแผนก ให้ตรงกับแผนดำเนินงานรวมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายก่อนสร้าง ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน บัญชี สำนักงาน ฯลฯ

3. กำหนดโครงสร้างและผังองค์กร เมื่อมีแผนแน่ชัดว่าจะไปทางไหน จะทำอย่างไร ก็ต้องเขียนผังองค์กรของบริษัท ตั้งฝ่าย ตั้งแผนก กำหนดกำลังผล แบ่งงานให้ชัดเจนว่าจะให้บริษัทใหญ่เล็กแค่ไหน จะแบ่งเป็นกี่ฝ่าย กี่แผนก มีคนกี่คน จะแบ่งงานกันแบบไหน จะแบกตามงานหรือจะแยกตามสินค้า
ผังองค์กรนี้แหละคือเครื่องมือแห่งความสำเร็จ ถ้าวางผังดีก็เหมือนเขียนแบบบ้านดี และต้องไปเขียน Job Description หรือคำอธิบายลักษณะงาน หน้าที่ และความรับผิดชอบ เขียนให้ชัดแจ้งทุกฝ่าย ทุกแผนก ทุกตำแหน่ง

4. เขียนระบบการทำงานให้ชัดแจ้งทุกฝ่าย ทุกบริษัทจะต้องมีระเบียบในการทำงาน ระเบียบของฝ่ายบุคคลเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน การลา การป่วย การขาด การรับสมัครคนเข้าทำงาน การฝึกอบรม ระบบสวัสดิการ ฯลฯ ระเบียบของฝ่ายการเงินและบัญชี เรื่องการทำงบประมาณ การเบิกจ่าย อำนาจอนุมัติระเบียบของฝ่ายผลิต การเบิกวัสดุ การผลิตสินค้า การก่อสร้าง การเก็บสต็อกวัสดุ ฯลฯ จะเห็นว่า บริษัทที่ดีนอกจากต้องมีผังองค์กรที่ดี ต้องมีการเขียนระบบ และระเบียบอย่างแจ้งชัด

5. การบริหารจัดการ “ทรัพยากรบุคคล” ซึ่งให้ความสำคัญว่ามนุษย์ที่ทำงานในองค์กรเป็นทรัพยากรที่มีค่าของบริษัท
ขั้นตอนต่อไปคือจัดการเอาคนที่มีอยู่ทั้งหมดใส่ลงไปในผังองค์กร แล้วดูว่าจะมีเหลือเท่าไร ขาดเท่าไร พอดีหรือไม่ ตรงกับความสามารถของของหรือไม่ เรียกว่าใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man to the right job) ความสำเร็จขององค์กรที่เคยผ่านมาก็อยู่ที่ตรงนี้ สมัยพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งซึ่งเป็นบริษัทที่ต้องฟื้นฟูใหม่ ได้เห็นการพลิกองค์กรด้วยการคัดเลือกทีมงานเข้ามาใหม่ แต่ละคนจะมีกรรมการทำหน้าที่คัดเลือกอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ว่าอยากจะรับใครเข้ามาก็รับเข้ามาเลย จากนั้นคนที่ตัดสินใจสุดท้ายคือกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะดูทั้งทักษะ ความเก่ง ประสบการณ์ และแววความฉลาดเฉลียว แต่ที่สำคัญคือการเลือกคนดีเอาไว้ก่อน ซึ่งความเก่งนั้นสอนได้ แต่ความดีสอนไม่ได้
ถ้าบริษัทมีระบบที่ดี รับพนักงานเป็นคนดี คนเก่ง จากนั้นก็มาฝึกให้เก่งตามแบบของบริษัท หล่อหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน องค์กรก็จะเติบโตแข็งแรง ซึ่งบริษัทก็ต้องมีแรงจูงใจ มีรางวัล มีสิ่งตอบแทนการทำงาน เพื่อรักษาคนดีคนเก่งเหล่านี้ให้อยู่กับบริษัทนานที่สุด

6. การฝึกคนให้เก่ง อย่างที่พูดไว้ในข้อที่แล้ว ถ้าระบบดี มีการรับคนดีเข้ามาได้ แม้คนดีเหล่านี้จะมีความเก่งเพียงไร มีประสบการณ์เพียงใด แต่การเข้ามาร่วมในทีมงานใหม่ คนใหม่ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับทีมงานให้ได้

ผู้บริหารองค์กรที่เก่งในการสร้างคนให้เก่ง จากคนที่ไม่มีประสบการณ์ชั่วเวลาเพียงสั้นๆ พนักงานก็มีแววกระตือรือร้น มีพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานได้ตามเป้า ตามงบประมาณ มีประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ แม้พนักงานบางคนจะอยู่ที่นี่มานาน เริ่มแก้วัด เริ่มเฉื่อยชาหมดความกระตือรือร้น ผู้นำที่มีความสามารถก็จะสามารถจะประจุพลังไฟให้ใหม่ กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ การทำงานใหม่ การคิดรางวัลจูงใจใหม่ๆ การให้รางวัลในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นตัวเงิน เป็นคำชม เป็นการให้เกียรติ เป็นการให้ความอบอุ่น สร้างความเชื่อมั่นและทำงานร่วมกันเป็นทีมงานที่ดี

ผู้นำที่มีบารมี มีความเก่ง มีความดี มีความสามารถในการจูงใจ ในการสร้างคนให้เก่ง จากพนักงานธรรมดากลายเป็นบุคคลที่มีค่ามีประโยชน์ต่อองค์กรอย่างสูง จะทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร เกิดการทำงานอย่างทุ่มเท อุทิศชีวิตกลายเป็นทีมแชมเปี้ยนที่มหัศจรรย์

7. ต้นแบบวัฒนธรรมองค์กร ผู้นำองค์กรที่ดีต้องทำตัวเป็นต้นแบบของความคิด สไตล์การทำงาน เพื่อจะจ้ำจี้จ้ำไชให้พนักงานทั้งหมดมีความคิดไปในแนวเดียวกัน ทำงานสไตล์เดียวกัน คือ “สไตล์ที่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงสุด”
ถ้าผู้นำเป็นคนขี้เกียจ ทำงานล่าช้า ไม่ตัดสินใจ ไม่ช้าองค์กรนั้นก็จะโลเล ทำอะไรเชื่องช้า พนักงานก็ไม่เอาใจ หนีงาน เกี่ยงงาน เพราะถ้านายไม่ขยัน ลูกน้องก็คงไม่ขยันเกินเหตุ กลับกัน ผู้นำที่ขยันขันแข็ง ทำงานหนัก ทุ่มเท ประหยัด ทำงานเร็ว จี้งานตลอด ดุว่า ตักเตือน สั่งสอน พนักงานก็จะสอดคล้องไปตามสไตล์การทำงาน

องค์กรที่ประสบความสำเร็จสูง จะมีสไตล์การทำงานของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน แต่ถ้าทำไปนานๆ จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เช่นบริษัทต่างประเทศใหญ่ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นยูนิลีเวอร์ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เครือซีเมนต์ไทย ชินวัตร ซีพี ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ ทุกบริษัทเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งแม้ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ก็สามารถสังเกตได้ และพนักงานใหม่ก็จะสังเกต และปฏิบัติตามได้ในไม่ช้า ว่าทีนี่เขาทำงานกันอย่างไร อะไรควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ
ความเก่งเกิดจากหลักดีและการฝึกฝน
ที่ยกตัวอย่าง 7S และมาปรับเป็นการทำงานแบบไทย และได้เอาไปทดลองใช้จริงในการทำงาน ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการบริหารสมัยนี้จะใช้วิธีทำไป สุ่มไป คลำทางเอา ใช้วิธีผิดเป็นครูจะไม่ได้ ถ้ามีทฤษฎีใหม่อันไหนที่สามารถเอามาใช้ได้เอาไปทดลองให้ถือว่า มีอาจารย์ดีมีหลักดีอย่างนี้ถือว่าได้เปรียบไปตั้งครึ่ง อย่างได้คิดอวดเก่งถึงขนาดตั้งทฤษฎีเองเป็นอันขาด
นี่จุดแตกต่างของนักบริหารสมัยใหม่ ที่สามารถประสบความสำเร็จได้เร็วกว่านักบริหารสมัยก่อน ซึ่งไม่มีตำรา ไม่มีอาจารย์ ไม่มีหลักสูตรอบรม ไม่มีสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้

ความเป็นผู้นำเกิดจากพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์
คตินักบริหารเป็นภาษาอังกฤษพูดไว้ชัดว่า “Leaders are made not born” แปลว่า “ผู้นำทั้งหลายในสังคมนั้น ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นมา” ด้วยความสามารถของตัวเองและรอบข้างทั้งนั้น หาได้เกิดจากพรสวรรค์ที่ฟ้าประทานมาไม่
คนที่เป็นผู้นำที่เก่งในสังคมในวงธุรกิจทุกวันนี้ ก่อนนี้ก็เคยเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีอะไรเด่น แต่พอโอกาสมาถึง เขาก็พัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ติดอาวุธทางความคิด ฝึกฝนวิทยายุทธ์อยู่เสมอ ลับฝีมือเป็นประจำ โชคดีที่ที่ได้ทำงานหนัก ได้เจองานยาก ได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชา เจ้าของบริษัทให้พิสูจน์ฝีมือ ทดสอบวิธี ยอมให้ทำความผิดได้ ยอมให้พลาดได้ เพื่อให้ได้บทเรียนกับตัวเอง

นี่คือเคล็ดลับสำคัญสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ทุกคน เพราะคนที่เก่งที่สุดวันนี้ วันหนึ่งก็ต้องผ่านไป ต้องกลายเป็นผู้อาวุโส
คำสอนสำคัญของเซียนการตลาดท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “บริษัทที่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไม่มีวันตกอับ คือน้องต้องเก่งกว่าพี่ ลูกต้องเก่งกว่าพ่อ ลูกน้องต้องเก่งกว่าเจ้านาย ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ คนรุ่นใหม่ต้องเก่งกว่าคนรุ่นเก่า” ท่านที่กล่าวนี้ คือ คุณเทียม โชควัฒนา ที่มองความสำเร็จของรุ่นลูก ด้วยความภาคภูมิใจที่สร้างกลุ่มบริษัท ภายหลังเติบโตยิ่งกว่าสหพัฒน์ฯ เกือบสิบเท่าในเวลาที่น้อยกว่าครึ่ง
แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบเก่งอย่างเดียวไม่พอต้องดีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: