ระบบภาษีของไทยเครื่องมือแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา
Date: 16 มิถุนายน 2016
จากแรงกัดดันของโลกการค้า ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ผลักดันให้กรมสรรพากรต้องทยอยยกเลิกวิธีการชำระเงินค่าภาษีด้วยเงินสด และบังคับให้ผู้เสียภาษีทุกรายต้องชำระเงินค่าภาษีทุกประเภทผ่านธนาคารพาณิชย์ (Tax e-Payment) ภายในปี 2561 ตามมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของ FATCAและมาตรการต่อต้านการฟอกเงินของผู้ก่อการร้ายของ APG โดยกรมสรรพากรต้องจัดส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินของชาวอเมริกันให้หน่วยงานทั้ง 2 แห่งตามข้อตกลงดังกล่าว
ตามแผนงาน กรมสรรพากรต้องนำเสนอร่างกฎหมายส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนกันยายน 2559 เพื่อบังคับให้ผู้เสียภาษีทุกรายที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ชำระค่าภาษีทุกประเภทผ่านธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป จากนั้น ให้ขยายผลการบังคับใช้กับผู้เสียภาษีทุกรายภายในปี 2561 สำหรับประชาชนทั่วไปที่ใช้เงินสดซื้อสินค้า ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตรา 10% แต่ถ้าซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารเสีย VAT ที่อัตรา 7%
การปฏิรูประบบการชำระเงินค่าภาษีของกรมสรรพากรครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ“แผนยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” (Nation e-Payment Master Plan) ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับโครงการ Any ID (Any Identification) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยข้อมูล Any ID ในการทำธุรกรรมทางการเงินจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลภาษี
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ (ซ้าย) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร (ขวา)
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลพัฒนาระบบ e-Payment เสร็จจะทำให้กรมสรรพากรมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis) ใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และอุดรูรั่วไหลในการจัดเก็บภาษี เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะมาปรากฏที่กรมสรรพากร ยกตัวอย่าง นาย ก ยื่น ภ.ง.ด.90 แจ้งกรมสรรพากรว่ามีเงินได้ 2 ล้านบาท แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีนาย ก ในปีนั้น 50 ล้านบาท สมัยก่อนเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูล แต่ในอนาคตข้อมูลทั้งหมดจะปรากฏอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากร หากเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลผู้เสียภาษีรายนี้ตรวจสอบพบแล้วไม่ดำเนินการตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนด รอจนมีผู้ตรวจราชการหรือเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบ จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
“ในอนาคตคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนเอาอนาคตทางราชการมาเสี่ยง หรือยอมช่วยเหลือผู้เสียภาษีกระทำความผิด การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากฐานข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินจากหน่วยงานต่างๆ จะมาปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร แก้ไขก็ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการ คนอื่นมาตรวจเจอ ก็จะมีความผิด” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียภาษีที่แจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง หากกรมสรรพากรตรวจเส้นทางเงินแล้วพบรายได้ที่ไม่ได้แจ้งต่อกรมสรรพากร เป็นรายได้จากการซื้อ-ขายสินค้าที่ไม่ได้ลงบันทึกบัญชี หากมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ผู้เสียภาษีจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ กรมสรรพากรมีอำนาจยึดทรัพย์และตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งรวมไปถึงกรณีการใช้ใบกำกับภาษีปลอมมาขอคืนภาษี VAT เป็นเท็จ มูลค่าเกิน 1 ล้านบาท หรือ ซื้อ-ขายใบกำกับภาษีปลอมมูลค่าเกิน 15 ล้านบาท ก็อยู่ในข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้กรมสรรพากรต้องออกมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว เปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีลงบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง โดยกรมสรรพากรจะไม่ตรวจภาษีย้อนหลัง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กรมสรรพากรต้องเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม เตรียมความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเชิญกลุ่มผู้ประกอบการทุกกลุ่มเข้าร่วมงานสัมมนา รับฟังแนวนโยบายและทิศทางการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในอนาคต รวมทั้งอบรมวิธีการลงบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เริ่มจากธุรกิจร้านทองกลุ่มนี้มีผู้ประกอบกิจการร้านทองทั้งหมด 7,585 ราย ประกอบด้วยผู้นำเข้าทองคำรายใหญ่ 10 ราย ร้านค้าส่งและโรงงานผู้ผลิตทองรูปพรรณ 75 ราย ร้านค้าปลีกหรือ “ตู้แดง” มีประมาณ 7,500 ราย ในจำนวนร้านค้าทองทั้งหมด 99% ประกอบธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา ที่เหลือ 1% จดทะเบียนการค้าในรูปแบบของนิติบุคคลหรือบริษัท ภาพรวมของธุรกิจร้านทองมีมูลค่าการซื้อ-ขายปีละประมาณ 4-5 แสนล้านบาท แต่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกรมสรรพากรไม่ถึง 2 แสนล้านบาท และจากการที่กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามสาเหตุที่ทำให้ร้านค้าทองลงบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง ร้านค้าปลีกบอกว่าร้านค้าส่งไม่ยอมออกใบเสร็จให้ พอไปสอบถามร้านค้าส่ง ร้านค้าส่งบอกว่าจะออกใบเสร็จให้แต่ร้านค้าปลีกไม่เอา ต่างฝ่ายต่างโทษกัน ล่าสุด ตนได้สั่งการให้สรรพากรพื้นที่โอนกิจการร้านค้าทองทั้งประเภทค้าส่งและผู้ผลิตเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (LTO) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ร้านค้าทองออกใบกำกับภาษีทุกทอดที่มีการซื้อ-ขายทอง โดยเฉพาะทองคำหนัก 1 บาท ร้านทองคิดค่ากำเหน็จจากลูกค้า 500 บาท แต่มาแจ้งกับกรมสรรพากร 400 บาท กรมสรรพากรได้ขอให้ร้านทองแจ้งค่ากำเหน็จให้ถูกต้อง (500 บาท) มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559
นายประสงค์กล่าวต่อว่า ภาพรวมของธุรกิจซื้อ-ขายทองคำมีมูลค่าปีละ 4-5 แสนล้านบาท แต่มายื่นภาษีเงินได้กับกรมสรรพากร 2 แสนล้านบาท สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านทองยื่นรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ปัญหาเกิดจากเจ้าของธุรกิจร้านทองประมาณ 99% เป็นธุรกิจครอบครัว โมเดลของการประกอบธุรกิจใช้รูปแบบของบุคคลธรรมดา มีกำไรจากการขายทองน้อยมาก หากแจ้งรายได้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าของร้านทองอาจจะไม่สบายใจ เพราะประมวลรัษฎากรให้เจ้าของธุรกิจร้านทองหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 75% ของรายได้ นั่นก็หมายความว่าขายทองได้ 100 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 75 บาท เหลือรายได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า 25 บาท หรือกำไร 25% แต่ข้อเท็จจริงเจ้าของธุรกิจร้านทองมีกำไรจากการขายทองไม่ถึง 1% เพราะซื้อทองมาแพง ต้นทุนสูงมาก บางครั้งทองราคาตกก็ขาดทุน หากร้านทองแจ้งรายได้ตามความเป็นจริง ก็ขาดทุนอีก เพราะประมวลรัษฎากรให้หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 75%
“ยกตัวอย่าง ร้านทองมีรายได้จากการขายทอง 20,000 บาท ข้อเท็จจริงมีกำไรแค่ 15 บาท พอถึงสิ้นปีนำรายได้จากการขายทองไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ประมวลรัษฎากรให้หักค่าใช้จ่ายได้ 15,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินได้สุทธิ หรือกำไร 5,000 บาท นำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงขายทองคำ 20,000 บาท ได้กำไรแค่ 15 บาทเท่านั้น นี่คือต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจร้านทองลงบันทึกบัญชีแสดงยอดขายไม่ครบถ้วน ตั้งแต่ร้านค้าส่งไปจนถึงร้านค้าปลีก ระบบบัญชีขัดแย้งกัน จนกลายเป็นข้อผิดพลาด หรือ “แผล” ที่ฝังลึกมานาน บางครั้งประกอบกิจการขาดทุน ก็ต้องยอมเสียภาษีให้เจ้าหน้าที่สรรพากร”
ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาร้านทอง คือ ต้องให้เจ้าของกิจการร้านทองมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักภาษีตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี
“หากประกอบกิจการมีกำไรก็เสียภาษี ขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี กรณีเป็นนิติบุคคลทั่วไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ แต่ถ้าเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีมีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท ได้รับการยกเว้นภาษี และถ้าเกิน 3 แสนบาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ นอกจากนี้ ในมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ยังเปิดโอกาสให้บริษัทนำผลขาดทุนสุทธิมาหักภาษีได้อีกไม่เกิน 5 ปี สิ่งที่ผมคาดหวังจากการโอนธุรกิจร้านทองเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ 1. ตัวเลขจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น ดึงธุรกิจที่อยู่นอกระบบบางส่วนเข้ามาอยู่ในระบบ 2. ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สรรพากร ในอดีตเคยใช้ดุลยพินิจในการจัดเก็บภาษีได้เพราะไม่มีหลักฐาน แต่หลังจากระบบ e-Payment มีผลบังคับใช้ ข้อมูลการชำระเงินทุกหน่วยงานจะมาปรากฏที่กรมสรรพากร หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ลงบันทึกบัญชีรายได้ให้ถูกต้องครบถ้วน ในอนาคตอาจจะเดือดร้อน” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภาษีร้านค้าทอง กรมสรรพากรขอความร่วมมือกิจการร้านค้าทองทุกแห่งให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และโอนทรัพย์สินเข้ามาที่บริษัทให้เสร็จภายในสิ้นปี 2559 เพื่อที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2559 ก็ให้ยื่น ภ.ง.ด.90 ตามปกติ (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560) สำหรับค่าธรรมเนียมการโอน และค่าภาษีที่เกิดจากการโอนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจากบุคคลธรรมดาไปยังนิติบุคคล ตนได้มีการหารือนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ทางกระทรวงการคลังจะออกกฎหมายยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีให้ทั้งหมด รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชื่อลูกหนี้ (เจ้าของร้านทอง) จากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลได้ ข้อดี คือ ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับนิติบุคคลได้โดยไม่จำกัดอายุ บริษัทอายุ 100 ปี ก็สามารถมากู้เงินธนาคารได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
“ผมเชื่อว่าธุรกิจร้านทอง 7,500 แห่ง จะเข้ามาจดทะเบียนบริษัทกันทั้งหมด ยืนยันไม่ทำให้ผู้เสียภาษีต้องจ่ายภาษีมากกว่าเดิม ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากกำไรสุทธิ ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี เริ่มจากธุรกิจร้านทอง จากนั้นก็จะขยายผลไปยังธุรกิจอื่นแยกตามคลัสเตอร์ของธุรกิจ เช่น ธุรกิจขายยา ร้านขายแว่นตา เป็นต้น กรมสรรพากรจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับภาคธุรกิจ เน้นให้ความรู้และการทำบัญชีให้ถูกต้อง เพราะโลกการค้าเปลี่ยน กฎกติกาเปลี่ยน กรมสรรพากรจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ” นายประสงค์กล่าว
ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีร้านทอง 7,500 แห่ง ประกอบธุรกิจการค้าในรูปแบบบริษัทมีไม่เกิน 100 แห่ง ส่วนที่เหลือ 7,400 แห่ง ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ทำบัญชีก็ไม่เป็น และก็ยอมรับว่าทำไม่ถูกต้องมานาน บางครั้งสรรพากรมาขอให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ขาดทุนก็ต้องยอมจ่าย ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะต้นทุนบางอย่างพวกเราไม่มีหลักฐาน นำมาลงบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายไม่ได้ ปัจจุบันร้านทองเสีย VAT เฉพาะค่ากำเหน็จ ขายทองคำแท่ง ขายทองรูปพรรณ ไม่ต้องเสีย VAT แต่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งในความเป็นจริงขายทอง 20,000 บาท ได้กำไรแค่ 15 บาท ซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ยังไม่ได้เลย เจ้าของกิจการร้านทองส่วนใหญ่ก็อยากเข้าระบบ เสียภาษีให้ถูกต้อง แต่ก็มีบางรายเกรงว่าเข้าระบบแล้วจะถูกสรรพากรตรวจภาษีย้อนหลังหรือไม่ หลังจากที่สมาคมค้าทองคำเชิญอธิบดีกรมสรรพากรกล่าวในงานสัมมนาเป็นครั้งที่ 2 ก็รู้สึกสบายใจขึ้น ถ้าโอนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วจะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ส่วนระบบใหม่เจ้าของกิจการร้านทองก็ไม่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ากำไรสุทธิไม่ถึง 3 แสนบาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ถ้าไม่เริ่มทำให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตธุรกิจร้านทองจะเดินต่อไปไม่ได้