คำถามให้ผู้บริหารในวันที่ธุรกิจต้องเริ่มเข้าสู่ DIGITAL TRANSFORMATION
Cr. Www.NUTTAPUTCH.com
11/29/2015
เรื่องของ Digital Transformation กลายเป็นประเด็ดฮอตฮิตสำหรับธุรกิจในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ เพราะสภาพตลาดตอนนี้น่าจะเป็นแสดงให้เห็นแล้วว่าโลกดิจิทัลวันนี้มีอะไรมากกว่าแค่เรื่อง “การตลาด” อย่างที่หลายๆ คนให้ความสนใจ และนั่นทำให้เกิดประเด็นพูดคุยกันว่าธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง (อ่านบล็อก “ผ่าตัดองค์กรรับยุคดิจิทัล” ได้ครับ)
ทีนี้หลักการทำ Digital Transformation นั้นก็มีอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่ผมมักหยิบมาแนะนำผู้บริหารอยู่บ่อยๆ คือการตั้งคำถามสำคัญๆ อยู่สามคำถาม นั่นคือ
การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลกระทบอะไรกันธุรกิจของเราและอุตสาหกรรมที่เราอยู่?
สำหรับผมแล้ว หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหารวันนี้คือการหาคำตอบของคำถามนี้ให้เจอ เพราะการเปลี่ยนผ่านเข้ามาสู่ยุคดิจิทัลนั้นกระทบกับหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมตลอดไปจนถึงโครงสร้างสำคัญๆ ของธุรกิจ เช่นพฤติกรรมผู้บริโภค ห่วงโซ่อุปทาน ความคาดหวังต่อสินค้า ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็กระทบกับธุรกิจเรา ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและรับมือให้ทัน
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราสามารถจะใช้มันเพิ่มศักยภาพอะไรให้กับธุรกิจเราได้บ้าง?
เวลาเราพูดยุคดิจิทัลนั้น คนส่วนใหญ่มักจะมองเรื่องการสื่อสารการตลาดแบบออนไลน์ (ส่วนหนึ่งเพราะมันคงเป็นประเด็นดังในยุคนี้ด้วย) แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีอะไรมากกว่าเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เพราะการที่เทคโนโลยีวันนี้ก้าวล้ำไปมาก มีหลายบริการที่เกิดขึ้นมาและช่วยเพิ่มประศักยภาพธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้เร็วขึ้น ประมวลผลที่ซับซ้อนกว่าเดิมได้ ลดต้นทุน ฯลฯ และนั่นน่าจะเป็นโจทย์สำหรับผู้บริหารที่ต้องคิดว่าจะหยิบเลือกอะไรมาใช้ให้เป็นประโยชน์
โครงสร้างการบริหารจัดการธุรกิจวันนี้ยังใช้งานได้ดีอยู่ไหม?
อีกอย่างหนึ่งที่ผมจะให้ความสำคัญคือระบบและวิธีการทำงานภายในบริษัทว่ามันสอดคล้องต่อเนื่องจากสองคำถามแรกหรือเปล่า บางทีเรามักจะเจอปัญหาว่าโครงสร้างบริษัท การแบ่งหน้าที่ รูปแบบการทำงานก็มีส่วนสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้ ผู้บริหารต้องมองให้ออกว่าการบริหารจัดการธุรกิจวันนี้พร้อมหรือไม่จะที่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือคว้าโอกาสที่เพิ่มเข้ามา
บล็อกวันนี้เราคงยังไม่พูดกันในรายละเอียดของ Digital Transformation นัก แต่ผมว่า 3 คำถามข้างต้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้องค์กรต้องหันกลับมาสำรวจตัวเองมากขึ้นแล้วล่ะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น