"การลดต้นทุน" คือการพยายามลดค่าใช้จ่าย (ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ควรลดค่าใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นต้องลด ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรที่จะไปลดโดยเด็ดขาด) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้เร็วที่สุดในรูปของตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ลดลงทันทีทันใด (ถึงแม้การลดค่าใช้จ่ายอาจจะต้องส่งผลเสียกับพนักงาน และส่งผลเสียกับคุณภาพของสินค้า-บริการที่ลูกค้าจะได้รับก็ต้องยอม)
"การบริหารต้นทุน" คือ การบริหารองค์กรทั้งในเรื่องของสินทรัพย์ (เครื่องไม้เครื่องมือ อาคาร ฯลฯ)และทรัพย์สิน(บุคลากร) ให้มีศักยภาพสูงที่สุดในการปฏิบัติงาน โดยใช้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นและผันแปรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วง เวลาที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ธุรกิจขยายตัว จำเป็นต้องเพิ่มกำลังคน องค์กรที่ใช้วิธีบริหารแบบลดต้นทุน ก็คือจะรีบทำการเพิ่มคน(โดยเป็นการเพิ่มต้นทุนไปอย่างอัตโนมัติ) และเมื่อถึงเวลาขาลงของธุรกิจ ก็จะรีบลดคน ลดต้นทุนทันทีทันใดเช่นเดียวกัน เท่านั้นยังไม่พอ ยังรวมถึงการลดต้นทุนโดยการลดคุณภาพของสินค้า ลดคุณภาพของการบริการ ลดค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ระมัดระวังเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขี้นกับทีมงานและคนในองค์กร ผลที่ได้รับมักจะกลายเป็นการลดลูกค้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ในขณะที่องค์กรที่ใช้การบริหารแบบ "บริหารต้นทุน" เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจขยายตัว จะไม่รีบร้อนเพิ่มคน แต่ใช้หลายทางเลือก เช่น ใช้พันธมิตรมาเป็นคู่คิด คู่ปฏิบัติในการร่วมกันขยายธุรกิจ ขยายโอกาส และร่วมกันรับความเสี่ยง หรืออีกทางเลือกเช่น ดึงศักยภาพคนในองค์กร จากที่เคยทำได้แค่หน้าที่เดียว หล่อหลอมฝึกฝนในเวลาที่กระชับไม่ยืดยาด เพื่อให้ขยายขอบเขตของทักษะและบทบาทที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจ
และเมื่อถึงเวลาขาลงของธุรกิจ การใช้พันธมิตรมาช่วยในช่วงแรกก็จะลดบทบาทลงทั้งสองฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องลดต้นทุน แต่ได้บริหารต้นทุนและได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเรากับพันธิมิตร ยิ่งในกรณีทีสามารถฝึกฝน หล่อหลอมทีมงานแบบกระชับให้มีหลายทักษะโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนใหม่ แต่ใช้คนในให้เกิดศักยภาพสูงสุด เมื่อถึงช่วงขาลง ก็จะกลายเป็นองค์กรที่มีทีมงานจำนวนเท่าเดิม แต่มีศักยภาพมากกว่าเดิม
ในอีกมิติหนึ่ง องค์กรที่รู้จักบริหารต้นทุน จะใช้สินทรัพย์ทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีเหตุผล ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ตามกระแส แต่จะทุ่มทุนและทุ่มเทไปกับทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรก็คือคน และถ้ามีกึ๋นในการบริหารคน สิ่งที่จะตามมาก็คือ คนขององค์กรจะช่วยบริหารต้นทุนให้กับองค์กรโดยไม่ต้องมาขอร้องให้ประหยัดแบบจำใจประหยัดสลับกับล้างผลาญค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะจ่ายอย่างที่หลายๆ องค์กรเป็นกันอยู่
เพราะฉะนั้น ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของ “การลดต้นทุน” กับ “การบริหารต้นทุน” อยู่ที่ ผู้นำขององค์กร และผู้บริหารทุกระดับในแต่ละหน่วยงานว่า มีวิธีคิด วิธีมองต้นทุนอย่างไร? ถ้ามองว่า สินทรัพย์(สิ่งไม่มีชีวิต) และ ทรัพย์สิน(คนทุกระดับในองค์กร) คือต้นทุน ก็ถือว่าผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะเพิ่มก็จะเพิ่มทั้งสองอย่าง และถึงเวลาที่จะลดก็ลดทั้งสองอย่าง สุดท้ายก็จะไม่มีเหลือต้นทุนที่มีศักยภาพให้องค์กรบริหาร อีกต่อไป
Credit : businessthai.co.th / TMB Efficiency
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น