วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

9 ทักษะการคิด 9 Thinking Skills

9 ทักษะการคิด (9 Thinking Skills) โดยอาจารย์ศศิมา สุขสว่าง

Tags: หลักสูตรการคิดวิเคราะห์, หลักสูตรการคิดเชิงระบบ, หลักสูตรความคิดสร้างสรรค์

การคิด (Thinking skill) เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลแก้ปัญหาตัดสินใจและสร้างแนวคิดใหม่ ๆ เรามักจะใช้ทักษะการคิดเมื่อพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์  การจัดระเบียบข้อมูล  การเชื่อมต่อคำถาม  การคิดวางแผนหรือตัดสินใจว่าจะทำอะไร

 

เก๋เคยทำการทดสอบ Personal trait ในหลายๆศาสตร์ด้วยกัน ปรากฏว่า เก๋เป็นคนที่มีและใช้ฐานคิดมากกว่าฐานใจ คือใช้ความคิดมากกว่าความรู้สึกทั้งในชีวิตการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว   เพราะตลอดมาได้ทำงานในฐานะนักวิจัย นักนวัตกร ตลอดจนเป็นผู้จัดการศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์   และต่อมาได้รับโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) และความคิดเชิงนวัตกรรม (innovative thinking)  ไปให้คำปรึกษาและอบรมสัมมนาด้านการพัฒนานวัตกรรมให้กับบริษัทต่างๆมากมาย

 

วันนี้เลยอยากแบ่งปัน เรื่อง ทักษะการคิด (Thinking skill) แบบต่างๆในมุมมองของเก๋ค่ะ 

ทักษะการคิด (Thinking skill) มีรูปแบบต่างๆ ได้แก่

 

1. การคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)  หมายถึง กระบวนการคิดในรูปแบบใหม่ๆ ความสามารถในการรับรู้ความคิดใหม่ ๆ และนวัตกรรมโดยแยกออกจากความคิดทฤษฎีกฎและขั้นตอนการทำงาน มันเกี่ยวข้องกับการวางสิ่งต่างๆด้วยกันในรูปแบบใหม่และจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์มักเรียกกันว่า "การคิดนอกกรอบ"

 

2. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) หมายถึง กระบวนการคิดในรายละเอียด ความสามารถในการแยกแยะส่วนต่างๆออกเป็นส่วนพื้นฐาน หรือส่วนย่อยๆ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ความเชื่อมโยง หรือความสัมพันธ์ของส่วนประกอบต่างๆ  เป็นการคิดในเชิงตรรกะทีละขั้นตอนเพื่อแบ่งระบบข้อมูลขนาดใหญ่ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อมาวิเคราะห์หาสาเหตุ หรือเป้าหมายที่ต้องการ

 

3. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) หมายถึง กระบวนการคิดโดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างรอบคอบ  โดยใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ประเด็น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลต่างๆรอบด้าน การสำรวจองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่อข้อสรุป เพื่อตรวจสอบพิจารณา ตัดสินและประเมินความถูกต้อง หรือสิ่งที่เป็นประเด็นในขณะนั้นๆ ให้แม่นยำ

 

4. การคิดเชิงกลยุทธ์ (strategic thinking) หมายถึง กระบวนการคิด โดยการวิเคราะห์และประเมินเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อตัดสินใจให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

5. การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual thinking) หมายถึง กระบวนการคิดในการเชื่อมโยงส่วนประกอบย่อยๆ หรือความสัมพันธ์ของข้อมูล เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ หรือระบบได้อย่างชัดเจนและมีระบบ

 

6. การคิดเปรียบเทียบ (comparative thinking) หมายถึง กระบวนการคิดเพื่อพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆที่มีลักษณะหรือความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจ หรือเปรียบเทียบเพื่อแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เพื่อป้องกันอนาคต หรือแม้กระทั่ง เพื่อจุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้ต่างจากของเดิม เป็นต้น

 

7. การคิดเชิงบวก (Positive thinking) หมายถึง กระบวนการคิดและเข้าใจในสิ่งที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ  แล้วหาเรื่องราวดีๆ หรือมุมบวก ในเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอ   เพื่อยอมรับ เรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข และให้เราเติบโตขึ้น

 

8. การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative thinking) หมายถึงกระบวนการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆและนวัตกรรม จากทักษะและกระบวนการคิดแบบต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อผู้คน สังคม โลก ออกมาเป็นรูปธรรม และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

 

9. การคิดเชิงระบบ (System thinking) หมายถึง กระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอน การมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ มีส่วนประกอบย่อยๆ มีขั้นตอน และรายละเอียดแยกย่อยออกมา และเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ

 

ไม่มีความคิดเห็น: