วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

โลหะใช้ทำเหรียญพระ

พระเครื่อง คมชัดลึก นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโลหะผสมในวงการพระเครื่องพระบูชา

โดย...วิจิตร ปิยะศิริโสฬส ( แพะ สงขลา )

         มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโลหะผสมในวงการพระเครื่องพระบูชา ที่ผู้เขียนได้พยายามหาความกระจ่างมาโดยตลอด เกี่ยวกับโลหะบางชนิดที่วงการพระเครื่องเรียกขานกัน เนื่องจากในสมัยก่อนที่ยังไม่เข้าวงการพระฯ ผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีธาตุโลหะอัลปาก้า ทองฝาบาตร โลหะขันลงหิน เป็นต้น แต่ก็ไม่เข้าใจ มาได้ยินการเรียกชื่อโลหะเหล่านี้อีกครั้ง เมื่อได้เข้ามาสัมผัสวงการพระเครื่องพระบูชา และหาผู้ที่สามารถคลี่คลายข้อข้องใจนี้ไม่ได้ เพิ่งมาได้รับความกระจ่างแจ้งเมื่อได้พูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ้มตระการ เจ้าของโรงงานอรุณชัยการช่าง และบริษัท อรุณชัยเมดดัลเลี่ยน จำกัด จังหวัดชลบุรี โดยท่านได้กรุณาให้ข้อมูลว่า

         โลหะทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี โดยมีสัดส่วน ทองแดง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ สังกะสี ๒๕ เปอร์เซ็นต์

         ส่วนทองฝาบาตร คือ ทองเหลืองที่ผ่านการปั๊ม(พระที่ทำด้วยทองเหลืองด้วยกรรมวิธีปั๊ม) เพียงแต่เขามาเรียกให้โก้ๆเท่านั้นเอง เพื่อจะได้จำหน่ายพระในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากคนทั่วไปไม่รู้ว่า แท้ที่จริงก็คือทองเหลืองล้วนๆนั่นเอง

         สำหรับโลหะที่เรียกว่า ขันลงหิน นั้นเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก โดยมากโลหะขันลงหินจะเป็นที่นิยมใช้ทำระฆัง เนื่องจากเวลาเคาะเสียงดังกังวาน ไพเราะเสนาะหู แต่มีข้อเสีย คือ ใช้เชื่อมไม่ได้ เนื่องจากโลหะทุกชนิดที่ผสมด้วยดีบุกจะแตก เมื่อมีการเชื่อมเกิดขึ้น ดังนั้นระฆังส่วนมากท่อนล่างจะเป็นขันลงหิน ส่วนท่อนบนจะเป็นทองเหลือง

         โลหะอีกชนิดหนึ่งที่วงการพระพูดถึงเสมอ คือ นวโลหะ ตามสูตรโบราณ หมายถึง โลหะ ๙ ชนิดที่หลอมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน หากประกอบด้วยโลหะ ๕ ชนิด เรียกว่า เบญจโลหะ ได้แก่ เหล็ก  ปรอท  ทองแดง  เงิน ทองคำ(ทองเป็นเกล็ดหรือทองเป็นก้อนซึ่งเกิดตามธรรมชาติ) ถ้าเพิ่มอีก ๒ ชนิด คือ เจ้าน้ำเงิน(เป็นแร่ผสมชนิดหนึ่งมีพลวงเป็นส่วนผสมหลัก มีสีเขียวเป็นสีน้ำเงิน) และสังกะสี  รวมเป็น ๗ ชนิด เรียกว่า สัตตโลหะ (สัตตะ=เจ็ด) และถ้าเพิ่มอีก ๒ ชนิด คือ ชิน (โลหะผสมชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ตะกั่ว และดีบุก นิยมใช้ทำพระเครื่อง) และ บริสุทธิ์ (คือทองแดงบริสุทธิ์) รวมเป็น ๙ ชนิด เรียกว่านวโลหะ (นวะ=เก้า)

         พระเครื่องที่สร้างด้วยเนื้อนวโลหะ แบบโบราณนั้น สร้างได้ยากมาก เพราะส่วนมากผู้สร้างพระเครื่องมักจะหาโลหะสำคัญบางชนิดไม่ได้ เช่น ชิน (ดีบุกผสมกับตะกั่ว) เจ้าน้ำเงิน (คนส่วนมากไม่ทราบว่าเป็นโลหะอะไรแน่) จึงทำให้ยุคหลังๆ การสร้างพระเนื้อนวโลหะมักจะไม่เต็มสูตร

         เหรียญพระเนื้อนวโลหะ ที่เรียกกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ผสมด้วยโลหะ ๙ ชนิดแบบสมัยก่อน อย่างเช่น เจ้าน้ำเงิน ก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นโลหะอย่างไรมีลักษณะแบบไหน ถามหาผู้รู้ก็ไม่มีใครทราบ

         นอกจากนี้ ส่วนผสมหลัก คือ ทองคำ ก็มีราคาแพงมาก เวลาทำเหรียญเนื้อนวโลหะ โดยทั่วไปจึงไม่มีใครใส่ทองคำกันแล้ว

         ดังนั้นทุกวันนี้ เหรียญเนื้อนวโลหะ จะมีส่วนผสมเหลือเพียงโลหะ ๓ อย่างเท่านั้น คือ ทองแดง ๘๕ เปอร์เซ็นต์ เงิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ สังกะสี ๕ เปอร์เซ็นต์

ไม่มีความคิดเห็น: